X

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือ CATARC หาแนวทางพัฒนาความร่วมมือยานยนต์ไฟฟ้า ไทย-จีน

Last updated: 19 ก.ย. 2566  |  452 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือ CATARC หาแนวทางพัฒนาความร่วมมือยานยนต์ไฟฟ้า ไทย-จีน

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือ CATARC หาแนวทางพัฒนาความร่วมมือยานยนต์ไฟฟ้า ไทย-จีน มุ่งเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศไทย ขณะที่ CATARC ต้องการให้ภาครัฐไทยสนับสนุนผู้ผลิตยานยนต์จีน หวังว่าในอนาคตความร่วมมือของทั้งประเทศจะเป็นไปอย่างฉันท์มิตร

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายดุสิต อนันตรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวิชิต ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองกำหนดมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้เข้าหารือกับ Ms. Lu Mei ผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของ China Automotive Technology and Research Center หรือ CATARC เพื่อหาแนวทางพัฒนาความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างสองประเทศร่วมกัน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566



นายเดชาฯ จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2560 ประเทศไทยได้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Vehicles) หรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ได้แก่ HEV, PHEV, BEV และ FCEV มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่มาลงทุนผลิตรถไฟฟ้า (BEV) ในไทย คือผู้ผลิตยานยนต์จากจีน โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จึงอยากเรียนรู้จากประสบการณ์ของจีน ซึ่งได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจนกลายเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของโลก ที่มาพร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้ง มีตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
 

ขณะที่ Ms.Lu Mei ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีนที่มีมายาวนาน ปัจจุบัน นักลงทุนจีนได้มีการขยายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมายังภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์จีนนั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม NEV (New Energy Vehicles เช่น PHEV, BEV) และมีนโยบานสนับสนุนให้ผู้ผลิตยานยนต์จีนกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่น (Go Global) เช่น อาเซียน เป็นต้น

 ปัจจุบันมีผู้ผลิตจีนลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยหลายราย เช่น SAIC Motor-CP (MG), Great Wall Motor (GWM), BYD Auto, NETA Auto, Changan Automobile และ GAC AION จึงขอให้ภาครัฐไทยช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ผลิตยานยนต์จีน และหวังว่าในอนาคตความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ระหว่างทั้งสองประเทศจะเป็นไปอย่างฉันท์มิตรและสะดวกราบรื่น โดยอาจติดต่อประสานงานผ่านทางสำนักงานภูมิภาค (Regional Office) ของ CATARC ในกรุงเทพฯ (ประเทศไทยเป็นสาขาที่ 4 ต่อจากเยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น)



 ภายหลังจากการหารือกับ CATARC แล้ว คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วม Closed-Door Meeting : China-ASEAN high level workshop on automotive industry cooperation เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศจีน และอาเซียน โดยนายเดชาฯ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้นำเสนอความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจีนและอาเซียน ภาพรวมด้านนโยบายรัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และแนวทางความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนในอนาคต
 

ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2566 ในช่วงเช้า เป็นงานสัมมนาย่อยแบ่งเป็น 3 ห้อง (3 ด้าน) ได้แก่ ด้าน Promoting the Development and Cooperation of China-ASEAN New Energy Vehicle Industry ด้าน Policy and Regulation of Key Automotive Export Market Countries และด้าน Building RCEP Cross-border Automotive Industry chain and supply chain โดยมีผู้แทนไทยเข้าร่วมการนำเสนอในแต่ละห้องด้วย เช่น นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำเสนอมาตรการส่งเสริม BEV ของไทย และนายกฤศ จันทร์สุวรรณรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นำเสนอภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
 

ช่วงบ่าย เป็นการสัมมนาหลักในหัวข้อเรื่อง “New Development, New Opportunities, Make Hand-in-hand Efforts to build a New Pattern for the Automotive Industry Development” โดยนายเดชาฯ ได้กล่าว Keynote Speech เรื่องเป้าหมาย Carbon Neutrality ของไทย และนโยบายการพัฒนายานยนต์ไทยไปสู่รถยนต์ที่มีคุณสมบัติ “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย” รวมถึง รถยนต์ที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ รถไฟฟ้า และแนวทางความร่วมมือกับ CATARC ในอนาคต และนายเกรียงศักดิ์ฯ ได้กล่าว Keynote Speech เรื่อง "ASEAN EV industry supply chain development and cooperation opportunity" นอกจากนี้ นายเดชาฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CCTV (CATARC Central Television) เกี่ยวกับ สถานการณ์ของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย
 
ทั้งนี้ CATARC เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน ที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์งครบวงจร ทั้งด้านการกำหนดนโยบาย ด้านวิจัยพัฒนา ด้านมาตรฐานและการทดสอบ รวมทั้ง การติดต่อสื่อสารกับสังคมและประชาชน (มีสื่อและหน่วยจัดงานอีเวนต์เป็นของตัวเอง)

ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้