Last updated: 17 ส.ค. 2566 | 834 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้กระแสความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV มาแรงและเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ผู้ใช้รถเริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจมาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
แต่ก็มีหลายคนยังลังเลและกังวลที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้า เนื่องด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ายังใช้เวลาชาร์จไฟนานในแต่ละครั้ง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขับขี่ จึงมีการคิดค้นและพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่เพื่อมาแก้ Pain Point ดังกล่าว
กราฟีน (Graphene) คืออะไร ?
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กราฟีน (Graphene) คือ ชั้นอะตอมของคาร์บอนที่เรียงตัวต่อกันเป็นโครงสร้าง 6 เหลี่ยม (Hexagonal) ซึ่งโดดเด่นด้วยคุณสมบัติพิเศษหลายด้าน มีความบางที่สุดในโลก มีความแข็งแกร่งกว่าเพชรและเหล็กกล้าถึง 200 เท่า นำไฟฟ้าได้ดี น้ำหนักเบาแต่พื้นผิวมาก กราฟีน 1 กรัม จะมีพื้นผิวเท่ากับ 10 สนามเทนนิส และเป็นประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย
จุดเด่น ‘แบตเตอรี่กราฟีน’ คืออะไร? ทำไมถึงดีกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน?
จุดเด่นของ “แบตเตอรี่กราฟีน” คือ เป็นวัสดุที่นำไฟฟ้าได้ดี มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการนำมาพัฒนาแบตเตอรี่ โดยสามารถชาร์จไฟได้เร็ว และกักเก็บพลังงานได้มากขึ้นกว่าแบตเตอรี่แบบเดิม ทำให้สามารถขับขี่ได้ไกลขึ้น ที่สำคัญไม่ระเบิด ไม่ติดไฟ จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน
ด้วยความที่กราฟีนจะมีความพรุนสูงและมีพื้นที่ผิวที่มากกว่า และมีความแข็งแรงและน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการชาร์จและความยืดหยุ่นสูง และเป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าที่ดี ทำให้เหมาะสำหรับการเก็บพลังงานอย่างมาก
และด้วยความที่กราฟีนมีการนำไฟฟ้าสูงจะช่วยให้ถ่ายโอนพลังงานได้มากขึ้นและชาร์จไฟเร็วขึ้นแต่ความร้อนน้อยลง นอกจากนั้นยังผ่านการย่อยสลายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับลิเธียมในขณะที่ให้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ EV ได้อย่างมาก ที่สำคัญคือแบตเตอรี่กราฟีนยังประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนกว่าแบตเตอรี่ EV ประเภทอื่น ๆ อีกด้วย
เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแล้ว แบตเตอรี่กราฟีนยังมีต้นทุนที่ถูก ทนทาน ปลอดภัย และใช้งานได้ยาวนานกว่ามาก ยิ่งกว่านั้น กราฟีนยังเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์เศรษฐกิจ BCG ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
คนไทยก็ทำได้! แบตเตอรี่กราฟีนรายแรกของไทย นวัตกรรมสู่อุตสาหกรรม EV
ล่าสุดประเทศไทย ได้ประกาศความสำเร็จในการคิดค้น ‘แบตเตอรี่กราฟีน’ แห่งแรกของไทย โดยทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ถือเป็นผู้บุกเบิกการนำวัสดุกราฟีนสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย
โดยขณะนี้กำลังวิจัยแบตเตอรี่กราฟีนสำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า จะพร้อมทดสอบกับมอเตอร์ไซค์และรถตุ๊กตุ๊กภายในต้นปีหน้า ก่อนที่จะพัฒนาต่อไปเพื่อทดสอบกับรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ซึ่งปัจจุบัน สจล.เป็นแห่งเดียวในไทยที่สามารถผลิตวัสดุ “กราฟีน” ได้เองจากโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนใน สจล.
โดยมีกำลังผลิตเดือนละ 15 กิโลกรัม ทดแทนการนำเข้าซึ่งมีราคากิโลกรัมละกว่า 10 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 60 -100 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมีราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 50% นับเป็นความสำเร็จในเฟส 1 และวันนี้ เป็นความสำเร็จในเฟส 2 ที่ทีมวิจัยคิดค้นพัฒนา แบตเตอรี่กราฟีน โดยใช้ รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ร่วมกับคาร์บอนจากวัสดุการเกษตรธรรมชาติเหลือทิ้งมาใช้ประดิษฐ์ขั้วไฟฟ้า
นวัตกรรมแห่งอนาคตตอบโจทย์ BCG
ทีมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ สจล.ได้คิดค้นนวัตกรรมกราฟีน จนสามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2566 ได้สำเร็จ เป็นการคิดค้นพัฒนา “แบตเตอรี่กราฟีน” โดยใช้รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ร่วมกับคาร์บอนจากวัสดุการเกษตรธรรมชาติ เช่น ถ่านเปลือกทุเรียน ถ่านกัญชง ถ่านหินลิกไนต์ และคาร์บอนทั่วไป มาประดิษฐ์ขั้วไฟฟ้า ถือเป็นการสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณขยะสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้า เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัสดุการเกษตรเหลือใช้ภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยังได้พัฒนาวัสดุใหม่ คือ วัสดุคอมโพสิตยางพารา ผสม นาโนกราฟีนออกไซด์ เพื่อป้องกันการคายประจุจากไฟฟ้าสถิต ทั้งเป็นตัวดูดซับสารอิเล็กโทรไลต์ให้มีสภาพเปียกได้สูง มีพื้นที่ผิวจำเพาะสูง ช่วยให้การเคลื่อนที่ของไอออนไหลผ่านได้ดีขึ้นจากรูพรุนที่เหมาะสม ส่งผลให้ยางพารามีประสิทธิภาพในการเป็นตัวแยกขั้วไฟฟ้าที่ดี ไม่มีความร้อนสะสมภายใน ทนต่อความร้อนและปฏิกิริยาเคมีจากกราฟีนออกไซด์ ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ราคาถูกกว่าลิเธียมไอออนมาก
เตรียม ‘วิจัย’ ใช้ใน ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ รองรับการก้าวเป็นฮับ EV
ในอนาคต สจล.ระบุว่า จะพัฒนาให้สามารถใช้ได้กับยานยนต์ไฟฟ้า EV มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า ถือเป็นการพัฒนาสู่เฟสที่ 3 และ 4 เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ก้าวเป็นฮับ EV และสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทย หากเราสามารถผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้งานรถ EV ได้เองในประเทศ จะทำให้รถที่ประกอบในประเทศอาจมีราคาถูกลงตามไปด้วย
อนาคต ‘กราฟีน’ จะทำให้รถ EV ชาร์จเร็วกว่าเดิม 60 เท่า
เป็นทราบกันดีว่าปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ส่วนใหญ่จะใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ส่งผลให้รถ EV มีน้ำหนักมาก เนื่องจากต้องใช้เซลล์แบตเตอรี่จำนวนมาก และยังมีอุณหภูมิที่สูงระหว่างการใช้งาน ที่สำคัญมีต้นทุนการผลิตที่สูง ซึ่งหากแบตเตอรี่ถูกพัฒนาให้เบาลงได้ ก็จะทำให้รถ EV วิ่งได้ไกลขึ้นด้วย
มีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ใช้กราฟีนประเภทต่าง ๆ จะถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบกราฟีนจะมีใช้ใน 1-3 ปีข้างหน้า ส่วนแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตตจะมีใช้ใน 4-8 ปี ขณะที่ตัวเก็บประจุแบบกราฟีนจะมีให้ใช้ภายใน 10 ปีข้างหน้า
เนื่องจากปัจจุบันแร่ลิเธียมลดลงมากจึงเริ่มขาดแคลน ดังนั้นแบตเตอรี่กราฟีนที่มีราคาถูกและรีไซเคิลได้ง่ายกว่ามาก และโซเดียมและอะลูมิเนียมมีปริมาณมากกว่าลิเธียมจึงมีโอกาสมาแทนที่ในไม่ช้า
ที่น่าสนใจคือ “แบตเตอรี่อะลูมิเนียม-ไอออนแบบกราฟีน” ซึ่งเป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีแบตเตอรี่มีแนวโน้มจะสามารถเป็นแบตเตอรี่ EV หลักได้ในอนาคต เนื่องจากเซลล์อะลูมิเนียมกราฟีนสามารถชาร์จได้เร็วกว่าเซลล์ลิเธียมไอออนถึง 60 เท่า และเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่อื่นอย่างมาก
ทำให้ปัจจุบันค่ายรถยนต์ไฟฟ้าหลายค่าย เริ่มพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทอื่น ๆ กันมากขึ้น เนื่องจากลิเธียมเริ่มขาดแคลนและต้องลงทุนที่สูงขึ้น ขณะที่แบตเตอรี่กราฟีนตอบโจทย์ในหลายด้าน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้แบตเตอรี่กราฟีนในรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นไปได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
เนื่องจากจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาเทคนิคการผลิตจำนวนมากและเพื่อกำหนดความสามารถเชิงปฏิบัติของวัสดุเพิ่มเติมต่อไป เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า เทคโนโลยีกราฟีน จะมาเปลี่ยนโลกธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้อย่างไร...
อ้างอิง
https://expo.kmitl.ac.th/innovation/cleyy6422000008l54tmg3wfu
https://www.springnews.co.th/digital-tech/auto/838132
https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000022139
https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1059831
https://www.springnews.co.th/digital-tech/auto/829702
ที่มา : Bangkok Bank SME