Last updated: 13 ส.ค. 2566 | 511 จำนวนผู้เข้าชม |
โตโยต้าจับมือซีพีใช้พลังงานไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลไก่และขยะอาหารเป็นเชื้อเพลิงในรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ในกิจกรรมของ CP เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่ง โดยจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้
โครงการนำร่องครั้งนี้ Toyota ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) โดย Toyota จะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ ที่สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Toyota จังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้วัตถุดิบเป็นมูลไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่ของกลุ่ม CP และบริษัทอื่น ๆ ในพื้นที่ และขยะอาหารจากศูนย์อาหารภายในสำนักงานใหญ่ของโตโยต้า
โครงการนี้ บริษัท มิตซูบิชิ คาโคกิ จำกัด บริษัทด้านวิศวกรรมของญี่ปุ่น เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์การผลิตก๊าซไฮโดรเจนที่สามารถผลิตได้ถึง 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง ขณะที่ Toyota จะเป็นผู้ดำเนินการสร้างระบบบีบอัด จัดเก็บ และขนส่งก๊าซชีวภาพและก๊าซไฮโดรเจน รวมถึงระบบปฏิบัติการต่างๆ
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเน้นศึกษาการผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ และนำไฮโดรเจนดังกล่าวไปใช้กับรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ในกิจกรรมของ CP รวมถึงศึกษาความร่วมมือด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และอาศัยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นทางการจัดส่ง
ที่มา : เพจ EPPO THAILAND /เพจสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน