Last updated: 12 ก.พ. 2567 | 1144 จำนวนผู้เข้าชม |
อีอีซี เดินสายโรดโชว์เซี่ยงไฮ้ ซูโจว หางโจว ต่อยอดลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และโลจิสติกส์ ร่วมหารือผู้บริหารระดับสูง Harmontronics Automation Technology และ Geely สร้างความมั่นใจลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นำคณะผู้แทน เยือนนครเซี่ยงไฮ้ ซูโจว และหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน คณะผู้แทนประกอบด้วย นายพิริยะ เข็มพล ที่ปรึกษาพิเศษ สกพอ. และอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และผู้แทนจากสำนักงานอีอีซี เมื่อวันที่ 9 - 12 กรกฎาคม 2566
คณะฯ ได้พบกับ Mr. Ruan Qing รองผู้อำนวยการ Shanghai Development and Reform Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลความร่วมมือภูมิภาค YRD เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การค้าการลงทุน และโลจิสติกส์ รวมถึงศึกษาแนวทางความร่วมมือระหว่าง EEC และ YRD ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
นอกจากการพบปะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นกลไลหลักในการขับเคลื่อนตามกรอบความร่วมมือที่สำคัญแล้ว คณะฯ ได้พบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ Automation and Digital อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน รวมถึงเทคโนโลยีด้าน BCG สู่พื้นที่อีอีซี
ทั้งนี้ได้มีการพบปะกับบริษัทฯในเขตซูโจว มลฑลเจียงซู ได้แก่ Harmontronics Automation Technology ซึ่งมีเทคโนโลยีโดดเด่นในเรื่องระบบ Automation และการจัดการสายการผลิตอัตโนมัติ เขตหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ได้แก่ บริษัท Geely Holding เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าอันดับติดอันดับ 1 ใน 10 ของจีน Alibaba Group ที่เป็น E-Commerce รายใหญ่ที่สุดของจีน และบริษัท China Tianying ในเซี่ยงไฮ้ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดขยะและของเสีย การผลิตไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานแบบใหม่ เช่น Gravity Energy Storage
การเยือนนครเซี่ยงไฮ้ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงเชิงกลยุทธ์ การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสานต่อความร่วมมือเชิงปฏิบัติอื่นๆ ระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) นอกจากนี้ยังเป็นการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนที่ระบุในถ้อยแถลงร่วม ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ กรุงเทพมหานคร
สำหรับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangzte River Delta) ประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมลฑลอานฮุย มีพื้นที่ขนาด 358,000 ตร.กม. มีประชากร 340 ล้านคน ขนาด GDP คิดเป็น 1 ใน 4 ของประเทศ หรือมากกว่า 14 ล้านล้านหยวน มีอุตสาหกรรมที่โดดเด่นได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรรวม ยาและเวชภัณฑ์ ยานยนต์พลังงานสะอาด E-Commerce รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยงกับการจัดการสิ่งแวดล้อม
ปี 2565 จีนเป็นแหล่งคำขอ FDI ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีมูลค่าประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐมาจากภูมิภาค YRD และประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนโดยรวมของจีนกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่อีอีซี
ที่มา :https://www.eeco.or.th/th