X

กระทรวงอุตฯกระชับแผนหนุนยานยนต์ xEV

Last updated: 14 ส.ค. 2566  |  481 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กระทรวงอุตฯกระชับแผนหนุนยานยนต์ xEV

กระทรวงอุตสาหกรรมดึงหน่วยงานทั้งองคาพยพเร่งสนับสนุนและยกระดับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ หนุนพัฒนาผู้ประกอบการยานยนต์ เพื่อส่งเสริมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) โดยกำหนดเป้าหมายผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ร้อยละ 30 ในปี ค.ศ.2030

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ ไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือ สนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา  

พิธีลงนามครั้งนี้มี ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา รังสิโยภาส เลขาธิการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ ในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เพื่อให้เกิดกิจกรรมในการขับเคลื่อนการยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานในประเทศ ซึ่งการผลิตยานยนต์ในประเทศไทย เริ่มต้นจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า สู่การเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก ด้วยการมี Product Champion ที่ตอบสนองต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย

ขณะเดียวกันในปัจจุบัน ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการผลิตยานยนต์ที่มีคุณสมบัติ “สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เริ่มต้นจากการส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล นำมาสู่การส่งเสริมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) โดยกำหนดเป็นเป้าหมายผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ร้อยละ 30 ในปี ค.ศ.2030
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลก เนื่องด้วยประเทศไทยมีตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการตั้งโรงงานผลิต สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศโดยการส่งออกที่สะดวก จากข้อตกลงระหว่างประเทศ (Free Trade Agreement: FTA) รวมถึงแรงงานที่มีฝีมือ อีกทั้งการกำหนดนโยบายภาครัฐอย่างมีทิศทาง ช่วยส่งเสริมผู้ผลิตยานยนต์จากทุกประเทศได้อย่างเสมอภาค

ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้ความเข้มแข็งต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ จากการทำวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยอย่างใกล้ชิด จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมมือพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่อไปได้ในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้