Last updated: 14 ส.ค. 2566 | 679 จำนวนผู้เข้าชม |
อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปควรปรับตัวอย่างไร LiB Consulting เสนอปรับกลยุทธ์สร้าง Cost Leadership เพิ่มการผลิตชิ้นส่วนรถ EV และใช้ศักยภาพที่มีก้าวสู่ธุรกิจใหม่ รับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการพัฒนามากกว่า 60 ปี มีการลงทุนจากต่างชาติมากมาย จนทำให้ทุกวันนี้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ชั้นนำของภูมิภาค และปัจจัยความร่วมมือของไทยและญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ที่ผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยดูมีแนวโน้มสดใสและเป็นไปได้ด้วยดี
แต่ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคตจะคงความยิ่งใหญ่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) หลาย ๆ ชาติเริ่มตื่นตัวกับกระแสของรถ EV และลงมาแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะแบรนด์ EV ค่ายจีนมากมายที่ประกาศลงทุนตั้งฐานการผลิตรถ EV ที่ไทย
อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ผลิตรถยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine : ICE) ในปัจจุบัน และการผลิต EV ในไทยจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหน สถานการณ์ความท้าทายใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเริ่มปรากฏภาพชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ และผู้ประกอบการควรจะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้อย่างไร
บทความนี้ คุณศรา จงบัญญัติเจริญ และดร.ลลิตา หฤทัยพันธน์ จาก LiB Consulting บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นนำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน และแนวทางการปรับตัวรับสถานการณ์ตั้งรับได้อย่างน่าสนใจ...
ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศของ LiB Consulting พบว่า ขณะนี้โลกแห่งยานยนต์กำลังตื่นตัวอย่างมากกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งส่งผลให้เกิดแนวโน้ม 3 ประการในอุตสาหกรรมยานยนต์ นั่นคือ
1. EV และ Hybrid ค่อย ๆ เติบโตและมาแทนที่ยานยนต์ ICE
เป็นไปได้สูงมากว่ายานยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาป (ICE) จะถูกแทนที่ด้วยยานยนต์แบบ EV และ Fuel Cell ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสถานการณ์นี้เริ่มส่งสัญญาณแล้วในปัจจุบัน เห็นได้จากอัตราการผลิตยานยนต์ ICE เริ่มลดลงในหลายประเทศ ๆ เช่น ปริมาณรถยนต์ที่ขายในประเทศนอร์เวย์เดือนพฤษภาคมปี 2566 มีสัดส่วนเป็นรถยนต์ EV ถึง 81% หรือในประเทศไทยที่มีรถยนต์ EV จดทะเบียนใหม่ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมรวม 24,106 คัน สูงขึ้น 148% เมื่อเทียบกับปี 2565 ทั้งปี ขณะเดียวกันอัตราการขยายตัวของ Ecosystem ที่รองรับตลาดยานยนต์ EV ก็เพิ่มขึ้นตั้งแต่เรื่องของระบบนิเวศสำหรับการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของรถ EV ไปจนถึงการผลิตไฟฟ้า สาธารณูปโภคด้านการชาร์จไฟ และกฎเกณฑ์การลดคาร์บอนที่สนับสนุนการใช้ EV
2. การเปลี่ยนแปลงของขั้วผู้เล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์
จากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไทยเรามีความได้เปรียบในเรื่อง Ecosystem ถึงแม้จะเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดอ่อนด้วย เพราะเมื่อค่ายรถยนต์ทางฝั่งอเมริกา ยุโรปและจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วไปสู่ตลาดใหม่ที่เป็นยานยนต์แบบ EV แต่ค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นมีแผนปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์แบบ EV ที่ช้ากว่า ไทยเราซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ญี่ปุ่นจึงได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
3.การแข่งขันระหว่างประเทศที่สูงขึ้นในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์
ด้วยกระแสความสนใจ EV จากทั่วโลก ส่งผลให้หลายๆประเทศเริ่มผลักดันความสามารถในการเข้าร่วม Supply chain ของรถยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการผลิตชิ้นส่วน เช่น อินโดนีเซียหรือเวียดนาม ที่ต้องการเข้ามาเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ในอาเซียนแทนไทย โดยประเทศเหล่านี้ได้เปรียบมากขึ้น เพราะไม่ได้มีรากฐานด้าน Ecosystem ของ ICE ที่หยั่งลึกเหมือนไทย ประกอบกับการมีทรัพยากรแร่ผลิตแบตเตอรี่ เช่น นิกเกิล จึงปรับตัวไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์แบบ EV ได้ง่ายและรวดเร็วกว่า โดยที่ต้นทุนการผลิตและค่าแรงขั้นต่ำก็ถูกกว่าไทย
ในปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียออกนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถ EV เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และกระตุ้นการใช้งานภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายควบคุมการส่งออกนิกเกิล เพื่อสะสมไว้เป็นทรัพยากรในการผลิตแบตเตอรี่ หรือการลดภาษีสำหรับรถ EV ที่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศมากกว่า 40% ในขณะเดียวกัน ไทยก็มีนโยบายเงินอุดหนุนและลดอากรนำเข้ารถ EV เช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าประเทศอินโดนีเซีย มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ EV จากการมีแร่นิกเกิลสะสมมากที่สุดในโลก และนั่นอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการลงทุนของแบรนด์รถยนต์ชั้นนำต่างๆ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากต่างชาติในแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ความท้าทายและโอกาสใหม่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
ไทยอาจสูญเสียสถานะฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญ ปัจจุบันไทยผลิตเพื่อส่งออกและผลิตใช้เองในอัตราส่วนประมาณ 50 : 50 หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปรับตัวไม่ทันต่อสถานการณ์ของตลาดที่กำลังมุ่งไปสู่ EV โอกาสที่สัดส่วนการผลิตยานยนต์เพื่อการส่งออกไทยจะหายไปก็มีสูง ซึ่งนั่นเท่ากับว่าอัตราการผลิตยานยนต์ในไทยจะหายลงไปถึงครึ่งหนึ่ง รวมถึงจำนวนชิ้นส่วนต่อคันของรถ EV ที่มีน้อยกว่ารถ ICE ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยอาจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จากความต้องการของตลาดที่ลดลง
อย่างไรก็ตามบริษัทผลิตยานยนต์จากจีนหลายค่ายก็ยังคงสนใจการลงทุนที่ไทย เพราะศักยภาพในการผลิตที่ไทยสะสมมายาวนาน เมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุนของบริษัทจีนกับจำนวนที่ไทยผลิตยานยนต์ ICE เพื่อส่งออกแล้ว ถือว่าการลงทุนจากจีนยังอยู่ในสัดส่วนที่น่าพอใจ โดยในปัจจุบัน แบรนด์จีนที่ลงทุนในไทยทั้งหมดมีกำลังผลิตอยู่ที่ 624,000 คันต่อปี เทียบกับยอดส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2565 ที่ประมาณ 1,000,000 คัน ทำให้สถานการณ์อนาคตข้างหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังมีโอกาสใหม่ในตลาด EV แม้ว่าแบรนด์จีนส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุน เพราะต้องการยอดขายจากตลาด EV ในประเทศ แต่หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกได้ ไทยก็ยังมีโอกาสดีที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคต่อไปได้
ทางออกและการปรับตัวเพื่อความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วทั้งโลกที่เกิดขึ้น กำลังส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ โดย LiB Consulting ได้เสนอแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตที่กำลังคืบคลานเข้ามาไว้ 3 แนวทางดังนี้
1. ปรับกลยุทธ์สร้าง Cost Leadership
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน การมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งมั่นคงนับเป็นจุดแข็งของเรา แต่ด้วยเรามีต้นทุนการผลิตและค่าแรงที่สูง จึงเป็นจุดอ่อนที่เราต้องเร่งปรับ
สิ่งแรก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องยอมรับให้ได้ว่า ปริมาณการส่งออกยานยนต์ ICE จะมีจำนวนที่ลดลงไปตามความต้องการของตลาดโลก แต่ถึงอย่างไรความต้องการใช้รถยนต์แบบ ICE และแบบ Hybrid ทั่วโลกจะยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปทั้งหมด ไทยจึงควรจะคงสถานะฐานการผลิตยานยนต์ ICE ต่อไป เพื่อให้เราเป็นฐานการผลิตสุดท้ายของยานยนต์ ICE ในภูมิภาค
อีกหนึ่งในกลยุทธ์คือการ Cost Leadership เพื่อแข่งขันในเรื่องต้นทุน จริงอยู่ว่าต้นทุนของไทยไม่ถูกเท่าต้นทุนในจีน แต่เราสามารถวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นฐานการผลิตร่วม หรือฐานการผลิตที่สองให้กับจีนตาม Policy China + Alpha โดยจะต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้ภาพรวมต้นทุนเทียบเท่ากับจีน ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยรักษาการเป็นฐานการผลิต ICE ต่อไปได้และเมื่อควบคุมต้นทุนได้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีเงินไปลงทุนในการพัฒนาจุดอื่น ๆ ด้วย
2. เพิ่มการผลิตให้หลากหลาย โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ EV
หลังจากรักษาฐานที่มั่นในการผลิตยานยนต์ ICE เอาไว้แล้ว ก็ควรปรับฐานการผลิต โดยหันมาโฟกัสการผลิตและประกอบยานยนต์ตามความต้องการของตลาดโลกนั่นคือ EV ควบคู่กันไป การปรับฐานการผลิตให้เกิดความหลากหลายเช่นนี้ จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้บริษัทรถยนต์ค่ายใหม่ที่เน้นยานยนต์ EV หันมามองที่ไทยและเลือกไทยให้เป็นฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทจากการผลิตยานยนต์ ICE เพียงอย่างเดียว
3. ใช้ศักยภาพที่มีเพื่อก้าวสู่ธุรกิจใหม่
ช่วงเวลาแห่งความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองไปสู่ “ธุรกิจใหม่” เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่มีกระโจนเข้าสู่ตลาดใหม่ได้ อาจอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนอื่น ๆ และสถาบันวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ตามความต้องการทั้งในและนอกกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างเช่น MaaS (Mobility as a service), BaaS (Battery as a service), Agtech (Agricultural technology) และอื่น ๆ ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวเดินต่อไปอย่างยั่งยืนได้
บทสรุป
นี่คือความท้าทายใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาถึงตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในด้านหนึ่งอาจดูว่าเป็นวิกฤตที่น่ากังวล แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็จะพบว่าสถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะปรับตัวพัฒนาความสามารถหลาย ๆ ด้านเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
ดังนั้นผู้ประกอบการควรเริ่มต้นจากการปรับลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจเกิดความยืดหยุ่นคล่องตัว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเริ่มคิดแผนรับมือความไม่แน่นอนในระยะยาว อย่างการเริ่มลงทุนทำธุรกิจใหม่ตั้งแต่เนิ่น ๆ ใช้ศักยภาพที่มีผลิตสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในญี่ปุ่นที่หันมาผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระบบนำทางให้กับรถแท็กซี่และรถส่งอาหาร บางบริษัทหันมาผลิตพื้นรองเท้ากีฬาโดยใช้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการผลิตยางสำหรับรถยนต์ที่ตนเองมีมาประยุกต์ และบางบริษัทใช้ความสามารถของเทคโนโลยีเซนเซอร์ในรถยนต์มาผลิตเป็นสินค้าในการตรวจวัดสุขภาพของผู้สูงวัย เป็นต้น การปรับตัวในลักษณะนี้จะต้องทำควบคู่กันไปกับการพัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้เราสามารถยืนหยัดรักษาสถานะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเอาไว้ได้ อันจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง
ที่มา: มิดัส คอมมิวนิเคชั่น อินเตอร์เนชั่นเนล