Last updated: 15 ส.ค. 2566 | 633 จำนวนผู้เข้าชม |
ตลาดอีวีโตชัด ปตท.ขยับตัวปรับแผนลงทุนช่วงครึ่งปีหลังใหม่ทันที ใส่เงินเพิ่มอีกกว่า 6 หมื่นล้าน ดันธุรกิจผลิตรถ EV แบตเตอรี่ไฟฟ้า และ LNG เต็มสูบ ยอดเงินลงทุนปี 2566 พุ่งเป็น 93,598 ล้านบาท
เดิมทีงบลงทุนของปี 2566 ของ ปตท.อยู่ที่ 33,344 ล้านบาท แต่หลังจากผ่านไปครึ่งปี บอร์ด ปตท. เห็นตัวเลขการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่อีวีชัดเจน จึงปรับแผนธุรกิจใหม่ เติมเงินลงทุนเพิ่มเกือบ 2 เท่า เน้นการลงทุนในกลุ่มบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% เพิ่มเป็น 73,779 ล้านบาท จากเดิม 12,515 ล้านบาท บุกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ EV เต็มพิกัด
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งการปรับเพิ่มงบลงทุนเพิ่มเติมมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ได้ทบทวนแผนการลงทุนของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% โดยได้อนุมัติให้ปรับแผนการลงทุนสำหรับปี 2566 จาก 33,344 ล้านบาท เป็น 93,598 ล้านบาท
การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เน้นไปที่การลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% เช่น สำหรับรองรับการร่วมลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด โรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ตลอดจนการร่วมลงทุนของบริษัท พีทีที แอลเอ็น จี จำกัด ในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2
แต่การลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของ ปตท. เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศยังคงเป็นไปตามแผนการลงทุนเดิม เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5
งบลงทุนใหม่ปี 2566 วงเงิน 93,598 ล้านบาท มีทั้งส่วนที่ปรับลดวงเงินลงทุนและส่วนที่เพิ่มเงินลงทุน ซึ่ง 2 ธุรกิจที่ใส่เงินลงทุนเพิ่ม คือ
1.การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เดิมตั้งไว้ 12,515 ล้านบาท เพิ่มเป็น 73,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61,264 ล้านบาท
2.ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เดิมตั้งไว้ 7,503 ล้านบาท เพิ่มเป็น 7,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 442 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจที่ลดเงินลงทุนลง มี 3 ธุรกิจ คือ
1.ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เดิมตั้งไว้ที่ 10,023 ล้านบาท ลดลงเหลือ 9,162 ล้านบาท หรือลดลง 861 ล้านบาท
2.ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย จากเดิม 863 ล้านบาท ลดเหลือ 769 ล้านบาท หรือลดลง 94 ล้านบาท
3.ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ เดิมตั้งไว้ 2,440 ล้านบาท ลดเหลือ 1,943 ล้านบาท ลดลง 497 ล้านบาท
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย