X

กสิกรไทย ชี้ช่องจับตาการนำเข้าชิ้นส่วน Core Technology สำหรับ BEV

Last updated: 16 มิ.ย. 2567  |  1013 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสิกรไทย ชี้ช่องจับตาการนำเข้าชิ้นส่วน Core Technology สำหรับ BEV

กสิกรไทยชี้อัตราเร่งตัวลงทุนผลิต BEV ในไทยพุ่งแตะ 270,000 คัน แต่การแข่งขันด้านราคาอาจทำให้ต้องนำเข้าชิ้นส่วน Core Technology จากประเทศเจ้าของเทคโนโลยี แนะรัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ BEV ในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3414) เมื่อ 30 พฤษภาคม 2566 ว่า แม้การลงทุนผลิตรถยนต์ BEV ในไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ BEV ในอนาคตนั้นทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอาจยังมีความเสี่ยงสำหรับชิ้นส่วนบางกลุ่ม โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากค่ายรถมีแนวโน้มกระจายการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังประเทศอื่นก่อนนำเข้ามาผลิตรถยนต์ BEV ในไทย

สาเหตุมาจากการแข่งขันในตลาดรถยนต์ BEV ที่สูงขึ้น ทำให้ต้องเน้นลดต้นทุนชิ้นส่วนลง โดยการเลือกใช้จากฐานผลิตที่ต้นทุนต่ำ ขณะที่ไทยไม่ได้กำหนดว่าการผลิตเพื่อขายในประเทศต้องมีจำนวนชิ้นส่วนขั้นต่ำเท่าไหร่ ส่วนการส่งออกผ่าน FTA ก็บังคับไว้แค่ให้ใช้วัตถุดิบในประเทศที่ 40% เท่านั้น ค่ายรถจึงมีแนวโน้มจะนำเข้าชิ้นส่วนบางกลุ่มจากฐานผลิตที่มีศักยภาพแทนที่ชิ้นส่วนที่ผลิตในไทย

โดยช่วงแรก ก่อนปี 2568 จะเน้นนำเข้าชิ้นส่วนทั้งหมดจากฐานผลิตหลัก และเมื่อมีการผลิตรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้นในไทย จะเริ่มเห็นการลงทุนผลิตชิ้นส่วนบางกลุ่มในไทย แต่จะยังคงมีการนำเข้า Core Technology จากประเทศเจ้าของเทคโนโลยี และกระจายนำเข้าชิ้นส่วนบางกลุ่มที่มีมูลค่าสูงจากประเทศอื่นในอาเซียน เช่น เซลล์แบตเตอรี่จากอินโดนีเซีย และชิ้นส่วนระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากมาเลเซียกับเวียดนาม ซึ่งอาจจะทำให้หน้าตาของห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนเปลี่ยนไปจากเดิมที่ไทยเคยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกหลักเมื่อครั้งผลิตรถยนต์ใช้น้ำมัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ BEV ยังไม่นิ่ง และการแข่งขันดึงดูดการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แนวนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ BEV อย่างต่อเนื่องและครบวงจรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่อาจช่วยพลิกโอกาสในการลงทุนให้มายังไทยมากขึ้น

ประเทศไทยยังมีศักยภาพดึงการลงทุนกลับมาได้บ้าง ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของภาครัฐเป็นสำคัญ

จากการทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลเพื่อดึงดูดการลงทุนผลิตรถยนต์ BEV ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ทำให้ปัจจุบันไทยมีค่ายรถทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และชาติตะวันตก ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากทาง BOI เบื้องต้นรวมแล้วถึง 270,000 คัน

อย่างไรก็ดี แม้การผลิตรถยนต์ BEV ในไทยจะมีทิศทางเติบโตได้ดี แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ไทยบางกลุ่ม โดยเฉพาะที่มีมูลค่าสูง ยังเผชิญกับความเสี่ยงเนื่องจากค่ายรถมีแนวโน้มกระจายการลงทุนผลิตชิ้นส่วนไปยังประเทศอื่นด้วย สาเหตุหลักมาจาก

(1) การแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะด้านราคาของรถยนต์ ทำให้ค่ายรถต้องเน้นกลยุทธ์ลดต้นทุน และแนวทางที่มักทำกัน คือ การเลือกใช้ชิ้นส่วนที่มีคุณภาพจากแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ แม้จะต้องมาจากการนำเข้า

(2) การที่ไทยยังไม่ได้มีข้อบังคับในการใช้ชิ้นส่วนขั้นต่ำในประเทศ มีเพียงการกำหนดให้ต้องลงทุนผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางชนิดเท่านั้น หากจะผลิตเพื่อขายในโครงการรับส่วนลดภาษีสูงสุด 150,000 บาทของรัฐบาล และ/หรือเมื่อขอ BOI

(3) ถ้าจะผลิตแล้วส่งออกผ่าน FTA ก็กำหนดให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพียง 40% เท่านั้น

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ค่ายที่ผลิตรถยนต์ BEV ในไทย มีแนวโน้มเลือกการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์บางกลุ่มจากประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตเป็นหลัก โดยระดับของการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ BEV อาจแบ่งตามระยะเวลาในการลงทุนตามการเติบโตของการผลิตรถยนต์ BEV ของค่ายรถดังนี้

➢ ช่วงแรกของการลงทุนของค่ายรถ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงก่อนปี 2568 การผลิตรถยนต์ BEV ยังมีจำนวนไม่มาก แต่ละค่ายจึงน่าจะอาศัยการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ BEV ที่ยังไม่มีการผลิตในไทยมาจากประเทศฐานผลิตหลักเดิม เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือชาติตะวันตก เพื่อประกอบรถยนต์ BEV ในไทย ซึ่งรัฐบาลก็ให้สิทธิภาษี 0% สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญเพื่อมาผลิตรถยนต์ BEV ในไทยภายในสิ้นปี 2568

➢ ช่วงหลัง เมื่อสัดส่วนรถยนต์ BEV ที่ผลิตในไทยเพิ่มสูงขึ้นไทยเริ่มขยับเป็นฐานการลงทุนผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางประเภท โดยเฉพาะชิ้นส่วนประกอบของชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อน แต่ยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนที่เป็น Core Technology จากประเทศฐานผลิตหลักอยู่ เพื่อมาประกอบให้เป็นชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนเต็มชุดสมบูรณ์ และเริ่มกระจายการนำเข้าชิ้นส่วนบางประเภทจากแหล่งผลิตอื่นในอาเซียนที่มีศักยภาพในการทำต้นทุนได้ต่ำ และได้ภาษี 0% มากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนมูลค่าสูงบางกลุ่มที่ต้องการความชำนาญเฉพาะ ซึ่งบางประเทศผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้อยู่แล้ว ขณะที่บางประเทศก็เป็นแหล่งวัตถุดิบหายากที่สำคัญ

สรุป คือ จากโอกาสที่ค่ายรถน่าจะมีแนวโน้มกระจายการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ BEV จากหลายประเทศเพื่อให้การจัดการด้านต้นทุนมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้คาดว่า ในระยะ 3-5 ปีจากนี้ แม้การผลิตรถยนต์ BEV ในไทยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ BEV ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน และสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ BEV ต่อต้นทุนชิ้นส่วนทั้งคันจะยังคงอยู่ในระดับสูง

คาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ BEV และมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อผลิตรถยนต์ BEV ในไทย (ตาราง)*

โดยในอนาคตอันใกล้นี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า น่าจะเริ่มได้เห็นหน้าตาของห่วงโซ่อุปทาน ชิ้นส่วนรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนที่เปลี่ยนไป เมื่อไทยที่เดิมมีบทบาทหลักในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนเพื่อไปประกอบเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันในฐานผลิตอื่นของภูมิภาค อาจต้องกลายเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วน โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม สำหรับการผลิตรถยนต์ BEV

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ BEV ยังไม่หยุดนิ่ง และการแข่งขันในการดึงการลงทุนด้านชิ้นส่วนรถยนต์ BEV เข้าประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การดึงดูดการลงทุนในบางชิ้นส่วนที่สำคัญและมีมูลค่าสูง ไทยอาจยังพอมีโอกาสที่จะดึงให้เข้ามาได้ เช่น การลงทุนผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ระดับเซลล์ ที่ปัจจุบันเริ่มหันมาพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมที่ไทยมีวัตถุดิบมากขึ้น หรือแม้แต่การผลิตชิ้นส่วนภายในเพื่อประกอบขึ้นเป็นชิ้นส่วนหลักบางรายการที่ไทยอาจถูกวางเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค เช่น มอเตอร์

สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องอาศัยแรงดึงดูดสำคัญจากภาครัฐ ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ BEV อย่างต่อเนื่องและครบวงจร ไม่ว่าจะจากมาตรการที่มีอยู่แล้ว หรือมาตรการใหม่ๆ เช่น การส่งเสริมธุรกิจดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับมาตรการเร่งด่วน อย่างเช่น การสร้างทักษะที่เหมาะสมให้กับแรงงานในยุคที่ธุรกิจหันมาใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานคนมากขึ้น เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นจากรอบด้านที่ไทยกำลังเผชิญอยู่

 

ที่มา : ศูนยวิจัยกสิกรไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้