X

เจาะ 5 กลยุทธ์ระดับโลกของค่ายรถ EV

Last updated: 20 ส.ค. 2566  |  1436 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เจาะ 5 กลยุทธ์ระดับโลกของค่ายรถ EV

สุดยอดเคล็ดลับค่ายรถยนต์ไฟฟ้า! เพจเฟชบุ๊ค BOI News พาไปสำรวจ 5 กลยุทธ์ที่แบรนด์ EV ชั้นนำของโลกเลือกใช้ พร้อมนำเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนการผลิต EV ที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ และแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท หวังดึงดูดให้ผู้ผลิต EV เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างครบวงจร สอดคล้องกับนโยบาย 30@30 ของรัฐบาล

ปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เมื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญ ขณะที่โลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แบรนด์ EV ชั้นนําหลาย ๆ แบรนด์ต่างเร่งนํากลยุทธ์ ต่างๆมาใช้เพื่อสร้างจุดขาย สร้างความแตกต่าง และใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่กําลังขยายตัวนี้

เพจเฟชบุ๊ค BOI News ได้พาไปสํารวจ 5 กลยุทธ์ที่แบรนด์ EV ชั้นนำของโลกนำมาใช้ ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน EV ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย

1. มุ่งเป็นผู้นําด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

แบรนด์ EV ชั้นนำหลายแบรนด์ ได้ลงทุนอย่างมากในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทันสมัย พร้อมกำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรม EV อย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีใหม่ด้านแบตเตอรี่ ที่สามารถขับขี่ได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น และเวลาชาร์จไฟที่เร็วขึ้น ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ระบบการขับขี่อัตโนมัติ ระบบควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติ และการวิเคราะห์ข้อมูลดูแลรักษา

2.ใช้กลยุทธ์ “แนวตั้ง” (Vertical Strategy) เพื่อบริหารจัดการธุรกิจแบบบูรณาการ

กลยุทธ์แนวตั้ง เป็นกลยุทธ์ในการควบคุมหรือบริหารทั้งกระบวนการผลิตไปจนถึงผู้ใช้งาน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่มีการควบคุมตลอด Value Chain โดยแบรนด์ EV รายใหญ่ เช่น Tesla ได้นําแนวทางแบบบูรณาการมาใช้ในธุรกิจ เพราะสามารถควบคุมทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตได้ เช่น การผลิตแบตเตอรี่ ระบบการชาร์จพลังงาน การพัฒนาซอฟต์แวร์ และประกันคุณภาพสูง ที่ช่วยควบคุมคุณภาพ ลดต้นทุนและเร่งนวัตกรรมได้มากขึ้น

3. สร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์จที่แข็งแกร่ง

การเข้าถึงระบบการชาร์จที่สะดวกและเชื่อถือได้เป็นปัจจัยสําคัญสําหรับ EV แบรนด์ใหญ่อย่าง Tesla, Volkswagen NIO, และ BYD ที่ต่างเร่งลงทุนในการพัฒนาเครือข่ายการชาร์จของตัวเอง หรือร่วมมือกับผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะสามารถเข้าถึงสถานีชาร์จได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

4. ร่วมมือเชิงกลยุทธ์และสร้างพันธมิตร

การสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับผู้เล่นในอุตสาหกรรมอื่นสามารถช่วยให้แบรนด์ EV ใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง และลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น Ford ที่มีผลิตภัณฑ์หลักเป็นรถยนต์ไฟฟ้า Mustang Mach-E ซึ่งเป็นที่สนใจในตลาดเป็นอย่างมาก และ Volkswagen ที่มีรถยนต์ไฟฟ้า ID.LIFE ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดีไซน์สุดหรูเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นและผู้ใช้รถในเมือง ได้ร่วมมือกันแบ่งปันแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี EV

ในขณะที่ General Motors ซึ่งมีรถยนต์ไฟฟ้าหลักเป็น Chevrolet Bolt EV และ GMC Hummer EV ที่เน้นเทคโนโลยีสุดล้ำ สมรรถนะสูง และ LG Chem ซึ่งเป็นผู้ผลิตและพัฒนาเซลล์แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังระดับโลก ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาและผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขั้นสูง โดยการร่วมมือนี้ช่วยให้ทั้งสองบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถและความเชี่ยวชาญเพื่อส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน

5. เน้นความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม

แบรนด์ EV รายใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและ CSR ด้วยคํามั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก โดยพยายามใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้นในการผลิต ความคิดริเริ่มเหล่านี้ไม่เพียงแต่นําไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ แต่ยังช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสําหรับผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีโอกาสเร่งปรับตัวและสร้างความพร้อมด้าน “EV Ecosystem” เพื่อก้าวสู่ “EV Hub” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาสามารถรองรับความต้องการทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

ความพร้อมของทำเลที่ตั้งโรงงานผลิต และระบบซัพพลายเชน นับเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเลือกฐานการผลิต

ซึ่งไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทาน EV ทั่วโลก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมซัพพลายเออร์และผู้ผลิตในท้องถิ่นอย่างจริงจัง

และที่สำคัญคือการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกลุ่มผู้มีทักษะด้านยานยนต์ที่มีอยู่ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพันธมิตรในอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมที่ตรงเป้าหมายและสร้างความมั่นใจด้านความพร้อมของแรงงานให้กับบริษัทยานยนต์จากทั่วโลกได้

สำหรับบีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์แก่กลุ่มผู้ผลิต EV ที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์และแพลตฟอร์มของรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และรถสามล้อไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

เรือไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า แบตเตอรี่ รวมถึงสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า (EV charging station) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิต EV เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างครบวงจร สอดคล้องกับนโยบาย 30@30 ของภาครัฐที่กำหนดให้ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ประเทศไทยต้องมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ

ทั้งหมดนี้คือโอกาสทองของไทยในการดึงดูดความสนใจจากตลาด EV ทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศ โดยอาศัยความพร้อมและศักยภาพในการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งในการผลิต EV ที่ไทยมีเป็นตัวขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการเป็น EV Hub ของภูมิภาคนั่นเอง

ปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างอนาคตที่รุ่งโรจน์ในโลกยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

ที่มา : BOI News

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้