Last updated: 21 ส.ค. 2566 | 839 จำนวนผู้เข้าชม |
รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนับเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สนใจใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในงบประมาณที่ย่อมเยากว่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง แต่ด้วยราคาแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างสูงทำให้การดัดแปลงต้องลงทุนด้วยมูลค่า 50-60% ของรถยนต์คันใหม่ ทำให้ผู้ใช้รถส่วนใหญ่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงมากกว่านำรถที่บ้านไปดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
ถึงแม้ราคาดัดแปลงรถสันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่ก็ยังมีผู้ใช้รถยนต์กลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบการดัดแปลงรถยนต์สนใจนำรถไปทำให้รถมีสเป็คตามสั่ง และได้สมรรถนะดังที่ใจต้องการ
ถ้าจะถามถึงรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงตัวเด่น ณ เวลานี้ ทุกคนในวงการต้องพูดถึง HONDA CIVIC EGV ผลงานการสร้างของ บริษัท ดี อี วี เทคโนโลยี จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ ECU=SHOP EV CONTROLLER ที่ทุ่มทุนสร้างรถคันนี้ด้วยงบประมาณสูงถึงล้านกว่าบาท
รถที่นำมาดัดแปลงคันนี้เป็นฮอนด้าซีวิค รุ่น EG 3 ประตู ผลิตขึ้นเมื่อปี 1994 สำนัก ECU=SHOP EV ได้นำมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่มีกำลังถึง 240 แรงม้า ทอล์ค 600 ใช้แบตเตอรี่ BMS ขนาด 38 กิโลวัตต์ วิ่งได้ระยะทาง 250 กิโลเมตร รถวิ่งได้ไม่เยอะเพราะสร้างขึ้นมาเพื่อเอาไปวิ่งแดร็ก ก็เลยไม่อยากให้รถน้ำหนักมากเกินไป
รถคันนี้เดิมตัวบอดี้มีน้ำหนัก 980 กิโลกรัม พอใส่แบตเตอรี่ที่มีน้ำหนัก 200 กว่ากิโลกรัมเข้าไปทำให้น้ำหนักรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,260 กิโลกรัม
จุดเด่นของ HONDA CIVIC EGV คันนี้คือการทำเป็นรถ 3 มอเตอร์ ด้วยการใส่มอเตอร์ขนาด 60 กิโลวัตต์ เข้าไป 3 ลูก รวมเป็น 180 กิโลวัตต์ ขนาด 240 แรงม้า แรงบิด 600 นิวตัน-เมตร ตัวมอเตอร์ติดตั้งชนกับเกียร์ เป็นเกียร์ซิ่งสำหรับรถแข่ง มีชุดคลัตช์ สามารถเหยียบคลัตช์ เบิร์นยาง ออกเกียร์ได้เหมือนรถสันดาปภายใน
ถึงจะมีรูปลักษณ์เป็นรถซิ่งแต่เวลาวิ่งเสียงจะเงียบกว่ารถใช้น้ำมัน แต่จะดังมากกว่ารถไฟฟ้าล้วนทั่วไปเล็กน้อย เพราะเกียร์เป็นเฟืองตรง ทำให้มีเสียงเกียร์ตามรอบ ไม่ใช่เสียงทดแทนแบบในรถไฟฟ้า ถือว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง
การชาร์จสามารถชาร์จไฟบ้านได้แต่ใช้เวลานานนิดนึง ถ้าหากชาร์จจาก AC Charger จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ถ้าเป็น DC Charger ใช้เวลา 20-30 นาที เพราะแบตฯลูกไม่ใหญ่มากนัก
“บริษัทเราสร้างระบบคอนโทรลทุกอย่างเอง การทำรถเลือกใช้มอเตอร์ 3 ลูก เพราะให้โปรแกรมเมอร์ออกแบบกล่องคอนโทรลให้สามารถคุยกับระบบมอเตอร์ได้ 3 ลูกพร้อมกัน รถดัดแปลงคันนี้ทำขึ้นมาเพื่อการวิจัย ในอนาคตอาจจะทำแบบมอเตอร์ 4 ลูก สำหรับล้อทั้งสี่ล้อแยกออกจากกัน” ทีมงาน ECU=SHOP EV เล่าถึงการดัดแปลงรถไฟฟ้าคันนี้ พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า...
“จริงๆ แล้วการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในเป็นรถไฟฟ้า ใส่มอเตอร์ลูกเดียวชนกับเกียร์ก็ใช้งานได้แล้ว แต่มันง่ายเกินไปสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเก็บดาต้า ในเมื่อโปรแกรมเมอร์ของเราสามารถพัฒนากล่องคอนโทรลให้สามารถคุยกับมอเตอร์หลายๆ ลูกได้ก็เลยอยากให้รถดัดแปลงคันนี้มีความพิเศษกว่ารถไฟฟ้าดัดแปลงทั่วไป”
หลังจากนำรถมาโชว์ในงาน บางกอก มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 “ECU=SHOP EV” มีแผนจะนำรถไปวิ่งแข่งแดร็ก (DRAG) ที่สนามแข่งรถรังสิตคลอง 5 และได้เตรียมแผนสร้างรถพลังงานไฟฟ้าขนาด 1,200 แรงม้า เป็นโปรเจคถัดไป