Last updated: 22 ส.ค. 2566 | 1663 จำนวนผู้เข้าชม |
เรื่อง : อรรถ
เช้าตรู่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 น่าจะเป็นวันประวัติศาสตร์วันแรกของการปักธง BYD ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติจีน บนแผ่นดินไทย แต่เอาเข้าจริงๆ ตั้งแต่ 3 ทุ่มของวันที่ 31 ตุลาคม ที่หน้าโชว์รูมบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (Rêver Automotive) ในฐานะตัวแทนจำหน่ายและให้บริการหลังการขาย รถยนต์ไฟฟ้า BYD อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ยอมรอต่อแถวข้ามคืน เพื่อให้เป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรก ที่ได้อวดโฉม BYD ATTO 3 บนท้องถนน
แม้ว่าปัจจัยหลักๆ จะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่ราคาน้ำมันค้างเติ่งอยู่บนเพดาน จนหลายคนที่ซื้อรถมาเพื่อจอดเอาไว้บ้านเฉยๆ เพราะยากจะกัดฟันรูดบัตรเครดิตจ่ายค่าน้ำมันไหว แถมรัฐบาลไทย ยังเปิดหน้า จัดแคมเปญอุดหนุนราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้า จนทำให้ BYD ATTO 3 Extended Range เปิดราคามาที่ 1,199,900 บาท (หลังรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ) นับเป็นราคาที่แสนจะเย้ายวนใจ แถม BYD ATTO3 ยังเป็นรถรุ่นเดียวที่มีสถานะ “รถพร้อมส่ง” ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ ต่อให้น่าขับ น่าซื้อ น่าเป็นเจ้าของมากเพียงใด แต่ถ้าอยากครอบครอง ต้องร้องเพลงรอ รอแล้ว รอเล่า เฝ้าแต่รอ โดยไม่มีปลายทางให้เห็น
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ BYD ATTO 3 ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งก็คือ “BYD” เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอยู่ในตลาดโลก และได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะบรรดา Influencer และกูรูยานยนต์ทั้งหลาย ที่ต่าง Review เจ้า BYD ATTO 3 ลงสื่อ Social Media ชนิด ถ้ากำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้าสักคัน จะไม่สามารถหนี Review เจ้า BYD ATTO 3 ได้เลย และเมื่อหาข้อมูลผ่านการเล่าเรื่องได้ง่ายขนาดนี้ ทำให้ผู้ซื้อหลายคนต่างก็ได้รู้ว่า Blade Battery ของ BYD เป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่รถยนต์ที่ปลอดภัยที่สุดในยุคปัจจุบัน (แม้ว่าจะมีข้อกังขาอยู่เล็กน้อยจากการทดสอบ และข่าวเรื่องสนนราคาค่าซ่อมบำรุงอันน่าสยดสยองที่เริ่มปรากฎประปราย) แต่อย่างน้อยๆ Mustang Mach-E จากค่าย Ford ดุดันไม่เกรงใจใคร ก็เลือกใช้ Blade Battery ในรถที่ผลิตในประเทศจีน และกลายเป็นอีก 1 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ATTO 3 เปิดประตูประเทศไทยได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
กว่า BYD จะเดินทางมาถึงจุดๆ นี้ จุดที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกเคียงคู่กับ Tesla จากสหรัฐอเมริกา (และทำยอดขายแซง Tesla ไปแล้วเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา) อะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้ยานยนต์สัญชาติมังกรได้รับการยอมรับจากผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า??
ย้อนไปเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 “หวัง ฉวน ฝู” ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสถาบันวิจัยโลหะนอกกลุ่มเหล็กแห่งปักกิ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีน เดินสู่เส้นทางธุรกิจด้วยการเปิดโรงงานเล็กๆ นอกเมืองเสิ่นเจิ้น ตั้งชื่อจุดเริ่มต้นพลิกโลกว่า Shenzhen BYD Battery Company โดยอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัว B – Y – D นั้นย่อมาจากคำว่า Build Your Dreams ซึ่ง หวัง ฉวน ฝู กำลังจะบอกกับโลกว่า เขากำลังจะสร้างฝันของเขา...ให้กลายเป็นจริง
จากเด็กลูกชาวนา ที่ต้องดิ้นรนทุกอย่าง และต้องใช้ความพยายามอย่างสูง หวัง ฉวน ฝู ร่วมกับพนักงานอีก 20 คน เริ่มต้นธุรกิจด้วยการ ลอกเลียนแบบแบตเตอรี่ โดยเฉพาะแบตเตอรี่จาก Sony และ Sanyo ออกจำหน่าย แต่สิ่งที่ทำให้ฝันของ หวัง ฉวน ฝู ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างก็เพราะ เขาไม่ได้หยุดแค่แงะแบตฯชาวบ้าน แล้วทำเลียนแบบไปวันๆ แต่ด้วยความเป็นนักวิจัย หวัง ฉวน ฝู ค่อยๆ ศึกษาและพัฒนาแบตเตอรี่ของตนเองขึ้นมา และใช้ระยะเวลาเพียง 10 ปี ในการก้าวมาเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลก
คาดกันว่าในปี 2553 BYD จะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับครึ่งหนึ่งของโทรศัพท์มือถือที่วางจำหน่ายอยู่ในโลกใบนี้ ทั้ง Nokia และ Motorola 2 แบรนด์โทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ในตำนาน ต่างก็เลือกแบตเตอรี่ของ BYD เป็นอุปกรณ์หลักในโทรศัพท์มือถือของตนเอง และในปี 2553 สำนักข่าว Bloomberg ก็ยกให้ BYD เป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในรายชื่อ 100 บริษัทเทคโนโลยีที่โตเร็วที่สุด
ฝันเป็นจริงไปแล้วหนึ่ง!
ถึงจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการแบตเตอรี่ แต่ หวัง ฉวน ฝู ก็ยังไม่หยุดที่จะสร้างฝัน เพราะเขาเล็งเห็นว่า นอกจากโทรศัพท์มือถือแล้ว วันใดก็ตามที่รถยนต์สามารถ “ใส่ถ่านชาร์จได้” โลกจะหมุนไปในองศาที่แตกต่าง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ BYD Auto ตั้งแต่ปี 2545!!
ย่ำเท้าแรกที่ลงมาในอ่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มจากการที่ หวัง ฉวน ฝู เข้าควบรวมกิจการของ บริษัท ซิงฉวน ออโต้โมบิล (Tsinchuan Automobile) มาครอบครอง และเริ่มชิมลางรถยนต์สันดาปภายใน (รถใช้น้ำมัน) ก่อน จนกระทั่งในปี 2551 ที่งานแสดงรถยนต์ Geneva Motor Show รถยนต์คันแรกที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางไฟฟ้าก็ถือกำเนิดขึ้น กับ BYD F3DM รถยนต์ Plug-in Hybrid (PHEV) รุ่นแรกก็ออกมาเฉิดฉายบนท้องถนน และกลายเป็นรถ PHEV ที่มีการผลิตแบบ Mass เป็นครั้งแรกของโลก
ในปีถัดมา หลังจากการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มแรงของรัฐบาลปักกิ่ง Battery Electric Vehicle (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรกของ BYD ก็ออกสู่ตลาด ในชื่อ BYD E6 ก่อนที่พี่น้องพันธุ์มังกรแห่งความฝัน จะทยอยออกสู่ตลาดอีกนับสิบรุ่น ซึ่งในเมืองไทยเอง ก็รู้จักกับ BYD E6 มาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยมีผู้นำเข้า BYD E6 เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แต่ก็มาในฐานะยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ (ถ้านึกไม่ออกว่า BYD E6 อยู่ในเมืองไทยหน้าตาเป็นอย่างไร ลองเรียกแท็กซี่จาก EV Society ให้มารับก็ได้ หรือท่านใดเดินทางกลับจากต่างประเทศ ลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ ลองใช้บริการแท็กซี่ไฟฟ้าได้ที่จุดขึ้นแท็กซี่สนามบิน ก็จะได้ทดลอง BYD E6 นั่นเอง)
และล่าสุด บทพิสูจน์ว่า BYD ได้สร้างฝันของตนเองจนสำเร็จเป็นจริง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา South China Morning Post สื่อในประเทศจีน รายงานว่า ตลอดทั้งปี 2565 BYD มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ PHEV รวมทั้งหมด 1.86 ล้านคัน สูงกว่า Tesla ที่ทำยอดในปี 2565 ได้เพียง 1.3 ล้านคัน
แม้ว่าหากนับเฉพาะในแง่ของรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) BYD จะยังมียอดจำหน่ายเป็นรองจาก Tesla ที่ไม่มีรถ PHEV จำหน่ายอยู่เลย นับเป็นหลักแสนคัน แต่ดูเหมือนว่า BYD กำลังหายใจรดต้นคอของ Tesla ชนิดทำให้ขนลุกเกลียวมากขึ้นในทุกๆ วัน และที่สำคัญ BYD มีโอกาสที่จะสร้างฝันอันยิ่งใหญ่ในฐานะ รถยนต์ไฟฟ้ายอดขายอันดับ 1 ของโลกที่แท้จริงให้สำเร็จ เพราะยิ่งนับวัน ช่องว่างระหว่าง Tesla กับ BYD ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน จะแคบลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และยิ่งบทพิสูจน์ที่มีมากขึ้น ชักนำให้ความไว้วางใจเพิ่มขึ้น ก็อาจจะส่งให้ BYD ก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 อย่างแท้จริงในระยะเวลาอันใกล้ เช่นเดียวกับที่ BYD ใช้เวลาเพียง 15 ปี ก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จนเดินทางมาถึงจุดนี้ได้
จากจุดเริ่มต้น “แบตโทรศัพท์” ก้าวเข้าสู่โลกของยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้หยุดแค่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล แต่ยังผลิตไปถึง รถกระบะไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า ยาวไปถึง รถไฟไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว (Monorail) สุดถึง เซลพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) BYD ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า “ฝันที่สร้างขึ้นมา” มีดีพอ ที่จะยืนในตลาดอย่างสง่างาม
วันนี้ “ความฝัน” ของ หวัง ฉวน ฝู ได้กลายเป็นฝันของใครอีกหลายคนที่อยากจะครอบครองรถยนต์ไฟฟ้า และเชื่อว่า ราชวงศ์หยวน (ชื่อรุ่น ATTO 3 ในประเทศจีน คือ หยวนพลัส (Yuan Plus) เป็นเพียง 1 รุ่นใน ซีรี่ส์ราชวงศ์ (Dynasty Series) ของ BYD ซึ่งยังมี รุ่นฉิน (Qin) ถัง (Tang) หรือ ซ่ง (Song) ที่ยังไม่ได้ทำตลาดในเมืองไทย) ก็พร้อมที่จะเป็นทัพหน้า กรีฑาทัพอีกหลายราชวงศ์ เข้าสู่ตลาดเมืองไทยในระยะเวลาอันใกล้
แน่นอนว่า ฝันนี้ จะไม่ได้กลายเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ อย่างแน่นอน ตราบใดที่ BYD ยังไม่สร้างฝันร้ายให้ผู้บริโภคชาวไทยจนกลายเป็นฝันอันน่าสยดสยองเกินไปนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่าซ่อมบำรุง” ที่ทำเอาบริษัทประกันหลายบริษัท สะดุ้งโหยง เมื่อต้องรับทำประกันภัยให้กับ รถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การขับขี่ของปวงชนชาวไทย
29 ก.ย. 2567