Last updated: 27 ส.ค. 2566 | 477 จำนวนผู้เข้าชม |
ครม. เห็นชอบโครงการเปลี่ยนรถเมล์เอกชนใน กทม. เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า โดยให้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เป็นผู้ดำเนินการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต คาดลดก๊าซเรือนกระจกได้ 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/คัน/ปี หรือ 500,000 ตัน ใน 10 ปี
ครม. เห็นชอบโครงการเปลี่ยนรถเมล์เอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำร่องโครงการคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศครั้งแรกของไทย ส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัย ลดฝุ่น PM 2.5
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 มกราคม 2566 เห็นชอบ หนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่ กทม. และมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เพื่อถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2564 - 2573 (ค.ศ. 2021-2030) ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส มีระยะเวลาเครดิตที่ได้รับอนุญาต ระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2565-31 ธันวาคม 2573 (คศ. 2022-2030) โดยใช้ผลการลดก๊าซกระจก NDC ของสมาพันธสวิส
โครงการฯ ดังกล่าวเป็นการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก โดยคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/คัน/ปี หรือ 500,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564-2573 (10 ปี) ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิลต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้ภาคส่วนในประเทศไทยสามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ช่วยต่อยอดการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามแผนนโยบายพลังงาน และยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติ รองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
3 ก.ย. 2567