Last updated: 27 ส.ค. 2566 | 883 จำนวนผู้เข้าชม |
คมนาคมเปิดเดินรถโดยสารพลังไฟฟ้าสาย 38 เผยปี 2565 ให้บริการแล้วกว่า 1,250 คัน ใน 77 เส้นทาง ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,850 คันในปี 2566 ทำให้มีรถเมล์ EV ให้บริการถึง 3,100 คัน ด้านไทย สมายล์ บัส เตรียมทำบัตร HOP CARD จ่ายเพียงวันละ 40 บาท ใช้ได้ไม่จำกัดระยะทาง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการเดินรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า สาย 38 เส้นทาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสาย 48 เส้นทาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา - ท่าช้าง ภายใต้แนวคิด “Thai Smile Change For The Better” เปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมงาน โดยมี นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ณ ไทยสมายล์บัส ศูนย์รามคำแหง 2 กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญการเพิ่มประสิทธิภาพรถโดยสารสาธารณะในการให้บริการประชาชน โดยเดินหน้าส่งเสริมการใช้รถเมล์ไฟฟ้า EV และรถยนต์ไฟฟ้าอย่างอย่างจริงจัง รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดภาระของประชาชนในการพึ่งพิงน้ำมัน และเป็นการปรับตัวเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่หวังว่าจะเกิดขึ้นในไทยได้ในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้
กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนให้เกิดกระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการจ้างเหมาบริการรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (รถไฟฟ้า) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเดินรถและลดมลพิษในเขตเมือง เพื่อให้การบริการประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับพิธีเปิดให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในครั้งนี้ถือเป็นปฐมฤกษ์ของปี 2566 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สานต่อจากความสำเร็จของการผลักดันให้เกิดบริการรถโดยสารพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน ด้วยความร่วมมือของกระทรวงคมนาคมและภาคเอกชน ในปี 2565 สามารถจัดสรรให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชนกว่า 1,250 คัน ใน 77 เส้นทาง อันเป็นการพลิกโฉมภาพลักษณ์ของระบบการขนส่งมวลชนทางถนนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ส่วนในปี 2566 นี้ กระทรวงคมนาคมได้ตั้งเป้าหมายจะสามารถผลักดันให้มีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการพี่น้องประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 1,850 คัน เพื่อขยายผลการบริการรถโดยสารสาธารณะที่มีคุณภาพ โดยภาคเอกชนมีการพัฒนาคุณภาพบริการ เดินหน้าปรับเปลี่ยนรถโดยสารเอกชนจากรถที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ในอีก 45 เส้นทาง และเส้นทางที่ประชาชนนิยมใช้บริการ ทำให้ภายในปี 2566 จะมีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการถึง 3,100 คัน
ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ สะดวก สะอาด ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง กว่านโยบายรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าจะประสบความสำเร็จนั้น กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการปฏิรูปเส้นทางเดินรถให้พี่น้องประชาชนเดินทางได้สะดวก โดยเน้นให้เกิดการเชื่อมต่อกับการเดินทางในรูปแบบอื่นอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนให้เอกชนริเริ่มที่จะใช้รถโดยสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างความรับรู้กับภาคเอกชนในการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบ การให้บริการขนส่งสาธารณะที่ดี และขอความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะที่ราคาประหยัด ช่วยลดภาระค่าครองชีพ
ทางด้านบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด มีแผนจัดกิจกรรมเปิดตัวการใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารสร้างความรับรู้ให้พี่น้องประชาชนเห็นถึงความก้าวหน้าของแผนการดำเนินการปรับเปลี่ยนรถโดยสารพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้จัดทำรูปแบบการชำระค่าโดยสารราคาพิเศษผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตร HOP CARD) เพื่อช่วยลดรายจ่ายในการเดินทาง โดยผู้โดยสารที่เดินทางเฉพาะทางรถโดยสารจะคิดค่าโดยสารตามจริงแต่ไม่เกินวันละ 40 บาท แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยว และสำหรับผู้โดยสารที่เดินทาง ในรูปแบบรถต่อเรือจะคิดค่าโดยสารตามจริงแต่ไม่เกินวันละ 50 บาท แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยวอีกด้วย
3 ก.ย. 2567