Last updated: 20 Oct 2023 | 1008 Views |
เอซ กรีน รีไซคลิง ลงนามข้อตกลงการวิจัยการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ร่วมกับห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งสหรัฐ (NREL) มุ่งเน้นรีไซเคิลแบตเตอรี่ LFP และโซลูชันการกู้คืนแกรไฟต์จากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่หมดอายุการใช้งาน เตรียมรับมือกับปริมาณยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่ LFP ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เอซ กรีน รีไซคลิง (ACE Green Recycling) หรือเอซ (ACE) และห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งชาติ (NREL) ของกระทรวงพลังงานสหรัฐ ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา (CRADA) เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนต่ำของเอซ ซึ่งครอบคลุมการรีไซเคิลแกรไฟต์, ลิเธียมเหล็กฟอสเฟต (LFP) และวัสดุออกฤทธิ์แคโทดอื่น ๆ ความร่วมมือนี้ช่วยสานต่อความมุ่งมั่นและการลงทุนเชิงลึกของกระทรวงพลังงานสหรัฐในการพัฒนาวิธีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ยั่งยืน คุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสหรัฐ
NREL ตั้งอยู่ในเมืองโกลเดน รัฐโคโลราโด เป็นห้องปฏิบัติการระดับชาติของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่มุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและประสิทธิภาพพลังงาน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับใช้ความก้าวหน้าที่สำคัญด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่
ปริมาณของยานพาหนะไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ LFP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น เทสลา (Tesla) และฟอร์ด (Ford) เริ่มหันมาใช้แบตเตอรี่ LFP จากเดิมที่ใช้แบตเตอรี่นิกเกิลและโคบอลต์เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม การรีไซเคิลแบตเตอรี่ LFP ยังเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเนื่องจากความยากลำบากในการสกัดวัสดุที่มีค่า (ลิเธียมและแกรไฟต์) ออกมาให้ได้กำไร
แอนดรูว์ คอลเคลเชอร์ (Andrew Colclasure) จาก NREL กล่าวว่า “วิธีการรีไซเคิลด้วยโลหวิทยาการละลายในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การสกัดวัสดุที่มีมูลค่าสูงจากแบตเตอรี่ LFP เช่น ลิเธียมและทองแดง เพื่อส่งเสริมแนวทางการรีไซเคิลแบบองค์รวมมากขึ้น เราจึงคิดค้นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่สามารถรีไซเคิลวัสดุมูลค่าต่ำ เช่น แกรไฟต์และเหล็กฟอสเฟต ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมนี้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อทำให้กระบวนการระหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
ปัจจุบันเอซได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองสำหรับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ LFP ขนาดสำหรับการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายให้ใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ข้อตกลงการวิจัยนี้ NREL จะช่วยเหลือเอซประเมินกระบวนการเชิงพาณิชย์สำหรับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ LFP และอัปไซเคิลแกรไฟต์เป็นเกรดแบตเตอรี่
วิปิน ทยาจิ (Vipin Tyagi) ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของเอซ กรีน กล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับทีมงานมากความสามารถจาก NREL ในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเชิงพาณิชย์ ส่วนหนึ่งของข้อตกลงจะให้ความช่วยเหลือในการผลิตเซลล์ การสร้างแบบจำลอง การวิเคราะห์ และมอบเครื่องมือขั้นสูงอื่น ๆ เพื่อสาธิตคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีของเอซในการทำงานขั้นต้นที่โรงงานของ NREL ในโคโลราโด
“โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อระบุขอบเขตการรีไซเคิลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแบตเตอรี่ LFP และแกรไฟต์ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลจากเทคโนโลยีของเอซ เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ที่ทำจากวัสดุที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน”
ทั้งนิ้ ความเป็นไปได้ในการอัปไซเคิลแกรไฟต์โดยเทคโนโลยีของเอซจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการพึ่งพาอิเล็กโทรดแกรไฟต์มากกว่า 60,000 ตันที่สหรัฐนำเข้าอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมและลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ ความร่วมมือของ NREL กับเอซสอดคล้องกับเป้าหมายของกฎหมายการปรับลดเงินเฟ้อของสหรัฐ (Inflation Reduction Act) ที่มีการประกาศไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของกฎหมายดังกล่าวคือ สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานระดับท้องถิ่นสำหรับวัสดุที่สำคัญภายในประเทศสหรัฐ
เกี่ยวกับเอซ กรีน รีไซคลิง
เอซ กรีน รีไซคลิง เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่จากสหรัฐ เป็นผู้พัฒนาโซลูชันแบบแยกส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและแบตเตอรี่กรดตะกั่วที่หมดอายุการใช้งาน ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยี เอซร่วมมือกับผู้เล่นทั่วทั้งอีโคซิสเต็มวัสดุแบตเตอรี่เพื่อสร้างโซลูชันแบบหมุนเวียนในท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าวัสดุแบตเตอรี่ที่สำคัญยังคงอยู่ภายในประเทศที่สร้างขยะจากแบตเตอรี่
ข้อความคาดการณ์ล่วงหน้า
เอกสารฉบับนี้มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า เกี่ยวกับความสามารถทางเทคโนโลยีและความคาดหวังทางธุรกิจในอนาคตของเอซ ข้อความทั้งหมดมาจากความคาดหวังของเอซในปัจจุบัน และมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางธุรกิจและทางเทคนิคหลายประการ ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์ที่แท้จริงแตกต่างอย่างมากจากผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะอธิบายโดยนัยหรือคาดการณ์ไว้ในข้อความคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการอนุมัติตามกฎระเบียบ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดในเทคโนโลยี ความไม่แน่นอนที่มักเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยี การปรับขนาดและการเปิดตัว การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แหล่งที่มาและความพร้อมในการจัดหาเงินทุนภายนอก
ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์