X

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า YAMAHA E01 เดินหน้าถึงไหน? NEO’s ขายที่ยุโรป

Last updated: 21 Aug 2023  |  681 Views  | 

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า YAMAHA E01 เดินหน้าถึงไหน? NEO’s ขายที่ยุโรป

ปีที่แล้ว E01 เปิดตัวในไทยในฐานะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต้นแบบสำหรับทดสอบ เวลาผ่านไป 1 ปี คืบหน้าไปถึงไหน และ YAMAHA NEO’s ที่นำมาโชว์ในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 นี้ มีอะไรน่าสนใจ มาหาคำตอบกัน...

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าทุกความเคลื่อนไหวของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ญี่ปุ่น มักอยู่ในความสนใจของผู้ขับขี่แทบทุกคน ด้วยความมั่นใจในคุณภาพและการบริการมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งนี้“ยามาฮ่า” นับเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่มีการเปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า YAMAHA E01 สำหรับการศึกษาและวิจัยก่อนทำตลาดอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปีที่ผ่านมา

สำหรับในปีนี้ “ยามาฮ่า” ได้นำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาโชว์ในงาน บางกอก มอเตอร์ มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 จำวน 2 รุ่นด้วยกัน คือ YAMAHA NEO’s  และ YAMAHA EO1 โดยทั้ง 2 รุ่น ยังไม่ได้มีการทำตลาดในเมืองไทย ซึ่ง YAMAHA NEO’s  ที่เผยโฉมในครั้งนี้เป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่จัดจำหน่ายในประเทศแถบยุโรป



นายศักดิ์ชัย กิจเลิศสิริวัฒนา เจ้าหน้าที่เทคนิคสื่อสิ่งพิมพ์ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า YAMAHA NEO’s  เป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก สามารถวิ่งได้สูงสุด 37 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวแบตเตอรี่ออกแบบให้มี 2 สล็อต เพื่อให้วิ่งได้ 70 กว่ากิโลเมตร แต่เวลาใช้งานต้องดึงสล็อตสลับกัน ถ้าจะใช้สวอปแบตเตอรี่ สามารถจอดรถไว้ที่บ้านเอาแบตเตอรี่เสียบชาร์จไว้สำหรับสับเปลี่ยนได้ ทางยามาฮ่าได้นำเอาคันจริงที่ขายในยุโรปมาโชว์ ตอนนี้ราคาขายในต่างประเทศอยู่ที่ 3 พันยูโร

สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่จะขายในเมืองไทยจะเน้นไปที่รุ่นเพอร์ฟอร์แมนท์สูงกว่า เป็นรุ่น YAMAHA EO1 ออกแบบจากพื้นฐานของมอเตอร์ไซค์ Yamaha NMAX 155 เวอร์ชั่นที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ รถรุ่นนี้เป็นโพรดักชั่นที่สามารถขับขี่ได้ในชีวิตจริงๆ ขณะนี้ได้มีการส่งไปทดสอบทั่วโลกตามประเทศที่ยามาฮ่าวางเป้าหมายเอาไว้เพื่อเก็บข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต

โพรดักส์ตัวนี้คือพีโอซี เป็นคอนเส็ปท์ ที่มาจากพื้นฐานไซส์ของรถจักรยานยนต์น้ำมันขนาด 125 ซีซี ได้รับการออกแบบให้ท่านั่ง ฟิลลิ่งในการขับขี่เหมือนรถเครื่องยนต์ และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ พละกำลังพอๆกัน เมื่อเป็นรถใช้ไฟฟ้าน้ำหนักจะมากกว่ารถน้ำมันประมาณ 20 กิโลกรัม รถมอเตอร์ไซค์ทั่วไปหนักประมาณ 130 กิโลกรัม E01 หนักประมาณ 150 กิโลกรัม มีโหมดการขับขี่ 3 แบบให้เลือก คือ Eco Standard และ Power ถ้าหากชาร์จแบตเต็มที่ 100% จะวิ่งได้ระยะทางสูงสุดในโหมด Eco 104 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุด 60 กม./ชม. วิ่งด้วยความเร็วโหมดสแตนดาร์ด ทำความเร็วได้ 100 กม./ ชม. วิ่งด้วยโหมด Power ก็จะได้ระยะทางหลดหลั่นกันไป



“ส่วนของการชาร์จ จะมี 3 รูปแบบ E01 จะให้หม้อแปลงสำหรับชาร์จ 1 ชุด เป็นแบบชาร์จช้า เสียบไฟบ้าน 220 โวลต์ ใช้ได้เลย  ใช้เวลาชาร์จ 0-100 ประมาณ 14 ชั่วโมง ถ้าโฮมชาร์จเจอร์ ที่เป็นไฟ 2 เฟส เสียบไฟบ้านใช้ได้เหมือนกัน กำลังการชาร์จจะสูงกว่าคือ 0-100 ประมาณ 5 ชั่วโมง ถ้าเป็นสเตชั่นที่เป็นควิกชาร์จเจอร์ ตอนนี้ทดลองติดตั้งให้กับไรเดอร์คลับ yrc เกษตรนวมินทร์ จะชาร์จที่ 0-90 ประมาณ 1 ชั่วโมง”

ปัจจุบัน ยามาฮ่าส่ง E01 ให้กลุ่มของการทดสอบหลายๆส่วนด้วยกัน มีทั้งหน่วยงานราชการ ซัพพลายเออร์ และพันธมิตรอย่างกลุ่มลูกค้าที่ยามาฮ่าทำการคัดเลือก โดยกลุ่มลูกค้ากลุ่มแรก เป็นกลุ่มบิ๊กไบค์ที่ที่เป็นไรเดอร์คลับย่านเกษตรนวมินทร์ และกลุ่มผู้ประกอบการที่ขับมอเตอร์ไซค์จริงๆ เพราะต้องการอยากได้ข้อมูลตรงส่วนนี้มาดูก่อน หลังจากนั้นจึงจะมีการผลัดเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาที่เก็บข้อมูลการทดสอบ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2 ปี



นายศักดิ์ชัย กล่าวว่าปัจจุบันยามาฮ่าเก็บข้อมูลมาได้ประมาณ 1 ปี ต้องใช้ระยะเวลาที่เหลืออีก 1 ปีในการเก็บเกี่ยวข้อมูล  แล้วส่งข้อมูลไปรวบรวมข้อมูลกับข้อมูลของประเทศอื่นๆ จากนั้นค่อยมากำหนดทิศทางว่าจะสามารถนำข้อมูลผลการทดสอบไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในทิศทางไหน ควรจะแก้ไขอะไรบ้าง ผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะขายหรือไม่ หรือจะเอาข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของยาม่าฮ่า โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับเซฟตี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เรื่องของรถไฟฟ้า เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอย่างมาก อย่างเช่นตัวรถทางญี่ปุ่นไม่ได้ส่งมาแค่แต่ตัวรถอย่างเดียว จะส่งข้อมูล คู่มือ รวมถึงการเซอร์วิสรถในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ พึงระวังอะไรบ้าง ก่อนที่จะออกผลิตภัณฑ์อะไรที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยอะไรต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรสำหรับยามาฮ่าค่อนข้างจะละเอียดมาก

“ตอนนี้ค่ายอื่นๆ ที่เป็นญี่ปุ่นก็จะเป็นเหมือน ๆ กัน เขาจะค่อนข้างระมัดระวัง จริงๆ แล้วรถไฟฟ้า องค์ประกอบไม่ได้เยอะ เพียงแต่ว่าการที่เราจะขายออกไป การใช้งาน หรือว่าความคงทน ความทนทานอะไรต่าง ๆ ต้องใช้เวลาในการทดสอบนานมาก ไม่ว่าจะเป็นรถอะไรก็ตาม รถจักรยานยนต์กว่าจะขึ้นไลน์โพรดักส์ ยกตัวอย่างหนึ่งคันที่เราเห็นใช้เวลาพัฒนาสามถึงสี่ปี การทดสอบเราใช้ระยะเวลานานมาก กว่าจะแน่ใจได้ว่ารถพร้อมจำหน่าย หรือว่ารถพร้อมใช้” นายศักดิ์ชัย กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้