Last updated: 22 Nov 2024 | 1147 Views |
“วันชาร์จ” เผยมุ่งพัฒนาโซลูชั่นสถานีชาร์จ EV เจาะตลาดนักเดินทาง เน้นสร้างสถานีชาร์จตามสถานที่ท่องเที่ยวห่างไกล ประเดิมเปิดให้บริการไปแล้ว 20 สถานี 40 ตู้ชาร์จ ตั้งเป้าขยาย 500 สถานี มุ่งสู่ความเป็นอโกด้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าไทย
นายธีรศักดิ์ ธิติโสตถิกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันชาร์จ โซลูชั่น จำกัด “OneCharge” เปิดเผย “ev-roads” ถึงรูปแบบธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าของ “วันชาร์จ” ว่า มุ่งเน้นการนำเสนอโซลูชั่น แอพพลิเคชั่น และแพลตฟอร์ม สถานีชาร์จฯ ให้ลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท อพาร์ทเมนท์ และคอนโดมิเนียม โดยมีตู้ชาร์จหลายแบรนด์ หลายระดับราคาให้ลูกค้าเลือกติดตั้งให้ตรงกับความต้องการ ทั้งระบบ Normal Charge (AC) และ Fast Chage (DC)
ตู้ชาร์จที่ทางวันชาร์จมีให้ลูกค้าเลือกทั้งหมดเป็นตู้ชาร์จนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ตู้ชาร์จ AC มีให้เลือกทั้งขนาด 7 กิโลวัตต์ และ 22 กิโลวัตต์ ส่วนตู้ชาร์จ DC เป็นขนาด 30 กิโลวัตต์ ตู้ชาร์จแบรนด์ Pilot ขนาด 7 กิโลวัตต์ ราคา 39,000 บาท ขนาด 22 กิโลวัตต์ ราคา 44,000 บาท แบรนด์ Weeyu ขนาด 7 กิโลวัตต์ ราคา 45,000 บาท ขนาด 22 กิโลวัตต์ ราคา 49,000 บาท แบรนด์ Enel X Juicebox ขนาด 7 กิโลวัตต์ ราคา 59,000 บาท ขนาด 22 กิโลวัตต์ 69,000 บาท สำหรับตู้ชาร์จ AUTEL MaxiCharger AC Wallbox ขนาด 7.4 กิโลวัตต์ และ 22 กิโลวัตต์ จำหน่ายในราคา 56,000 บาท และ 76,000 บาท ราคาค่อนข้างสูงเพราะสามารถตั้งค่าโฆษณาได้
ในส่วนของรูปแบบการให้บริการที่แพลตฟอร์ม “วันชาร์จ” ออกแบบไว้ให้ลูกค้านั้นสามารถตั้งราคาได้ 2 แบบ แบบแรกคือราคาต่อหน่วยต่อกิโลวัตต์ แบบที่สองคือติดราคาแบบรายชั่วโมง ถ้าติดตั้งตู้ชาร์จ 7 กิโลวัตต์ มักแนะนำให้ตั้งราคาเป็นแบบรายชั่วโมง ถ้าเป็นแบบ 22 กิโลวัตต์ ส่วนมากจะแนะนำให้ลูกค้าคิดค่าบริการเป็นราคาต่อหน่วย
“มีลูกค้ารายหนึ่งติดตั้งตู้ชาร์จขนาด 22 กิโลวัตต์ คิดค่าบริการเป็นราคาต่อหน่วย มีรายได้เดือนละ 5,000 บาท ราคาเครื่องสี่หมื่นกว่าบาท เขาติดตั้งไปแค่ 4-5 เดือนก็คืนทุนแล้ว จะคุ้มทุนเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับรุ่น ถ้ารุ่นแพงๆ อาจใช้เวลานานหน่อย”
นายธีรศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่าวันชาร์จเป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งกิจการขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้วจากการที่เป็นผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วประสบปัญหา ก็เลยตั้งกิจการมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ประกอบกับเห็นว่ายังมีโอกาสอีกช่องทางหนึ่ง คือต้องการให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถทำธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ ก็เลยพัฒนาโซลูชั่นขึ้นมาซัพพอร์ตกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท อพาร์ทเมนท์ และคอนโดมิเนียม ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ในรูปแบบแอพพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายระดับรองที่ผู้ให้บริการสถานีชาร์จรายใหญ่เข้าไปให้บริการได้ไม่ทั่วถึง
ด้วยแนวคิดขยายตลาดในรูปแบบของการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของ EV โดยพัฒนาโซลูชั่นการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบแอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของสถานีชาร์จ และผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก จึงนำเสนอตู้ชาร์จให้ลูกค้ามีโอกาสเลือกใช้อย่างเปิดกว้างหลายแบรนด์ ไม่จำกัดว่าต้องใช้ตู้ชาร์จแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง นอกจากจะมีตู้ชาร์จให้เลือกหลายแบรนด์แล้ว ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายใดที่มีตู้ชาร์จใช้ที่บ้านอยู่แล้ว หากต้องการเปิดให้บริการชาร์จ ก็สามารถเข้าร่วมให้บริการได้
“ถ้ามีตู้ชาร์จอยู่แล้ว อยากจะเอามาทำระบบเก็บเงินก็ทำได้เหมือนกัน หรือว่าไม่มีอะไรเลย มาหาเรา มาเอาตู้ชาร์จเราไปปลั๊กอินก็ได้ เรามีตู้ชาร์จให้เลือกหลายแบรนด์ ตอนนี้กำลังหาพาร์ทเนอร์เรื่อย ๆ ถ้าใครเข้าไปในแอพวันชาร์จจะเห็นจุดวันชาร์จทั่วประเทศ เพราะว่าเรารวมสถานีชาร์จไว้แทบทุกจุด เกือบครบทั้งหมด จุดไหนที่ใช้แพลตฟอร์มวันชาร์จ เราก็จะขึ้นเป็นสีฟ้า จุดไหนกำลังชาร์จอยู่จะขึ้นเป็นสีส้มประมาณนี้”
นายธีรศักดิ์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานว่าปัจจุบันวันชาร์จมีสถานีชาร์จทั้งสิ้น 20 สถานี 40 ตู้ชาร์จ ส่วนมากเป็นตู้ชาร์จ แบบ Normal Charge เนื่องจากเป็นโซลูชั่นสำหรับที่พัก เช่น โรงแรม อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม รีสอร์ทต่างๆ ทั้งหมด ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวไกล ๆ เช่น อำเภอไชยปราการ จ.เชียงใหม่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จังหวัดอุตรดิตถ์ และภูเก็ต ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายขยายสถานีชาร์จให้ได้ประมาณ 500 แห่ง
“จากประสบการณ์ที่ได้ไปติดตั้งวันชาร์จตามที่พักในสถานที่ท่องเที่ยวต่างจังหวัดไกลๆ ทำให้เราเกิดไอเดียว่าต้องการพัฒนาให้วันชาร์จเติบโตไปในทิศทางเดียวกับอโกด้า และตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าอยากจะเป็นอโกด้าสำหรับสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า” นายธีรศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย