Last updated: 21 ม.ค. 2568 | 145 จำนวนผู้เข้าชม |
สอศ. จับมือ CHELOVE ยกระดับการศึกษายานยนต์พลังงานใหม่ มุ่งผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย พร้อมร่วมมือพันธมิตรพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมที่รับนักศึกษาได้ 1,000 คนต่อปี
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระดับนานาชาติด้านยานยนต์พลังงานใหม่ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ บริษัท เซเลิฟ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป จำกัด เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีนาย หวัง หย่งเจีย กรรมการบริษัท เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568
นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในด้านการศึกษาระดับอาชีวศึกษา และยกระดับทักษะความรู้ความชำนาญให้แก่นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา
นอกจากนี้ สอศ. ยังให้ความสำคัญกับการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลกในการพัฒนาหลักสูตรและจัดตั้งศูนย์กลางการอบรมเฉพาะทาง ความร่วมมือครั้งนี้มีการดำเนินการที่สำคัญหลายประการ เริ่มจากพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ครอบคลุม 9 สาขาหลัก (9 Major Learning Fields) พร้อมด้วยสถานการณ์จำลองมากกว่า 100 รูปแบบ เน้นการเรียนรู้แบบ Task-driven การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) การศึกษาจากกรณีข้อร้องเรียนของผู้ใช้จริง การใช้ระบบจำลองเสมือนจริง การพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้อัจฉริยะบนคลาวด์ "CHELOVE" ร่วมกับ Tencent ซึ่งจะมีความสามารถในการแบ่งปันทรัพยากรการศึกษาแบบหลายภาษาระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ ระบบการสอนและประเมินผลอัจฉริยะ รองรับความปลอดภัยของข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในประเทศไทย โดยมีแผนขยายศูนย์ฝึกอบรมในไทยเพิ่มอีก 20 แห่ง
ที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการแล้วที่ศูนย์ฝึกอบรม AION-CHELOVE ที่ RMUTI ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการพัฒนาแรงงาน การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในพื้นที่ EEC ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และการขยายขอบเขตการพัฒนาบุคลากรจากอุตสาหกรรม EV ไปสู่เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ หุ่นยนต์ชีวภาพ และการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่
ด้านนาย หวัง หย่งเจีย กรรมการบริษัท เซเลิฟ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยียานยนต์ล่าสุดจากประเทศจีนมาพัฒนาต่อยอดในประเทศไทย พร้อมจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในสายอาชีวศึกษา โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งบริษัทชั้นนำและสถาบันการศึกษาจากประเทศจีน พัฒนาหลักสูตรและจัดการฝึกอบรมที่รองรับนักศึกษาได้ถึง 1,000 คนต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทยังมีประสบการณ์ในการพัฒนาครูผู้สอนในประเทศจีนกว่า 2,000 คน ซึ่งจะนำความเชี่ยวชาญนี้มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการศึกษาสายอาชีพของไทยให้ทัดเทียมระดับสากล ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้านยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่นักเรียน พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการฝึกงานและการจ้างงานให้กับนักเรียนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
20 ม.ค. 2568