Last updated: 5 ต.ค. 2567 | 346 จำนวนผู้เข้าชม |
กทม.เผยแผนเช่ารถขนขยะไฟฟ้าระยะสั้น 9 เดือน ทดแทนรถที่หมดสัญญา เป็นการลดปัญหามลพิษ ประหยัดงบประมาณได้กว่า 127 ล้านบาท
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวเรื่องการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ของกรุงเทพมหานคร โดยมี นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) และนายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สสล. ร่วมแถลง ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครใช้วิธีการจัดซื้อรถเก็บขนมูลฝอย (รถขยะ) แต่ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาใช้วิธีการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย โดยระหว่างปี 2545 – 2563 มีการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแล้วทั้งสิ้น 28 สัญญา วงเงินรวม 21,974,978,103 บาท ต่อมา กทม. ได้เตรียมจัดซื้อจัดจ้างรถขยะทดแทนตั้งแต่ปี 66 แต่ติดข้อร้องเรียน ทำให้โครงการหยุดชะงักและเป็นอันต้องยกเลิกไป ดังนั้นในปีงบประมาณ 2568 สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้เสนอโครงการเช่ารถขยะไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 4 โครงการ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านสภา กทม. เรียบร้อยแล้ว
สำหรับรถขยะที่หมดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 67 จะทำให้ใน กทม. ไม่มีรถขยะมาใช้ สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้รับงบกลางเพื่อจัดหารถขยะเร่งด่วน ระยะเวลาเช่าไม่เกิน 270 วัน (9 เดือน) เนื่องจากเห็นสมควรว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ประกอบกับ ได้มีการเปรียบเทียบค่าเช่ารถดีเซลกับรถไฟฟ้าในช่วงระยะเวลา 9 เดือน พบว่ารถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. หากเป็นรถดีเซลมีค่าเช่า 2,082 บาท/คัน/วัน แต่รถไฟฟ้ามีค่าเช่า 1,665 บาท/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. หากเป็นรถดีเซลมีค่าเช่า 2,542 บาท/คัน/วัน รถไฟฟ้ามีค่าเช่า 2,033 บาท/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน หากเป็นรถดีเซลมีค่าเช่า 2,371 บาท/คัน/วัน รถไฟฟ้ามีค่าเช่า 1,896 บาท/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน หากเป็นรถดีเซลมีค่าเช่า 2,800 บาท/คัน/วัน รถไฟฟ้ามีค่าเช่า 2,240 บาท/คัน/วัน ดังนั้น หากสามารถเช่ารถไฟฟ้าได้ในช่วงระยะเวลา 9 เดือน จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 127,289,084 บาท ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับประชาชนและประโยชน์กับทางราชการ
ขณะเดียวกัน ในส่วนของต้นทุนพลังงานรถไฟฟ้ายังประหยัดกว่ารถดีเซลอีกด้วย ดังนี้ รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. หากเป็นรถดีเซลมีต้นทุนพลังงาน 1,056 บาท/คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงาน 264 บาท/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. หากเป็นรถดีเซลมีต้นทุนพลังงาน 1,280 บาท/คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงาน 300 บาท/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน หากเป็นรถดีเซลมีต้นทุนพลังงาน 1,200 บาท/คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงาน 300 บาท/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน หากเป็นรถดีเซลมีต้นทุนพลังงาน 1,353 บาท/คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้ามีต้นทุนพลังงาน 648 บาท/คัน/วัน
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เสนอโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าว่า ก่อนเสนอโครงการได้มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลว่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้ามีการใช้งานอยู่จริงหรือไม่ ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร มีหน่วยราชการใดใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าในการเก็บขนมูลฝอยบ้าง พบว่าในพื้นที่เขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร เทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เทศบางตำบลบางปู และองค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง จ.สมุทรปราการ ได้ใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น กทม.จึงไม่ใช่ที่แรกที่จะใช้รถประเภทดังกล่าว โดยจากการศึกษาติดตามการดำเนินการในเทศบาลข้างเคียงที่ได้มีการใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าเป็นประจำมาระยะเวลาหนึ่ง (ตั้งแต่ประมาณเดือน ม.ค. 67) พบว่าสามารถใช้งานได้ดีและเต็มศักยภาพ
สำหรับในเรื่องของการเปรียบเทียบมลพิษต่าง ๆ ได้มีการศึกษาจากงานวิจัยในหลาย ๆ พื้นที่เกี่ยวกับรถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า พบว่ารถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน หากเป็นรถดีเซลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,256 กิโลคาร์บอน (kgCO2) ต่อเที่ยว ส่วนรถไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 192 kgCO2 ต่อเที่ยว
การปล่อย PM2.5 รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 40 กรัม/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 72 กรัม/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 48 กรัม/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 90 กรัม/คัน/วัน แต่หากเป็นรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถไฟฟ้าจะไม่ปล่อย PM2.5
การปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถดีเซลจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ประมาณ 8, 11, 8, และ 11 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ 0 กรัม/คัน/วัน
การปล่อยไฮโดรคาร์บอน รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถดีเซลจะปล่อยไฮโดรคาร์บอนประมาณ 356, 428, 428, 535 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ 0 กรัม/คัน/วัน
การปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน รถดีเซลประเภทรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 666 กรัม/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 1,200 กรัม/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 800 กรัม/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 1,500 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าทั้ง 4 ประเภท จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน 0 กรัม/คัน/วัน
ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบค่ามลพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่กรุงเทพมหานครประสบทุกปี นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สำนักสิ่งแวดล้อมตัดสินใจเลือกใช้รถไฟฟ้า ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยเริ่มต้นที่ตัวรถขนขยะ เนื่องจากรถของกทม.ต้องวิ่งเข้าพื้นที่ชุมชน ซอยต่าง ๆ ทุกวัน ดังนั้นระหว่างการดำเนินการเก็บขนมูลฝอยในแต่ละวันก็จะมีการปล่อยมลพิษจากตัวรถ โดยตัวเลขข้างต้นคำนวณจากการใช้รถ 200 กม./วัน และค่ามลพิษคิดจากปริมาณการใช้น้ำมัน หากเริ่มต้นปรับเปลี่ยนรถราชการมาใช้รถไฟฟ้าก็จะสามารถลดปัญหามลพิษในกรุงเทพมหานครได้ส่วนหนึ่ง
ที่มา : กรุงเทพมหานคร