Last updated: 24 ส.ค. 2567 | 298 จำนวนผู้เข้าชม |
กระทรวงอว. นำ 5 สถาบันอุดมศึกษา ร่วมงานสัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน ปี 2024 เตรียมพร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV เซมิคอนดักเตอร์ และ AI เร่งสร้างแรงงานทักษะสูงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว.ให้เป็นผู้แทนกระทรวง อว.เข้าร่วมงานสัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน ปี 2024 China-ASEAN Education Cooperation Week จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม 2567 ณ เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม คณะทำงานยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับสากล รศ.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดทำหลักสูตรด้านเซมิคอนดักเตอร์ กับสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาไทย จำนวนกว่า 15 แห่งเข้าร่วม เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว ในด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งต้องการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความต้องการแรงงานที่ทักษะสูงและแนวโน้มนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในอนาคต เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) กระทรวง อว. ตระหนักถึงประเด็นนี้ จึงมีนโยบายมุ่งสร้างและพัฒนากำลังแรงงานที่มีทักษะสูง เพื่อดึงดูดการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค
สำหรับในเรื่องของการผลิตและพัฒนากำลังแรงงานที่มีทักษะสูง กระทรวง อว. มีนโยบายต้นแบบเกี่ยวกับด้านเซมิคอนดักเตอร์ ด้าน EV และ AI โดยการจัดตั้งกำลังแรงงานในทุกระดับ มีเป้าหมายสร้างกำลังแรงงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ จำนวน 80,000 คน EV 150,000 คน และ AI 50,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยกระทรวง อว.จะทำหน้าที่เป็นศูนย์สนับสนุนรวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรเพื่อ Upskill/ Reskill ซึ่งจะเป็นการพัฒนากำลังแรงงานที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยไม่มีข้อจำกัดจากมาตรฐานการจัดการการศึกษาปัจจุบันและต่อไปในอนาคต
ดร.พรชัย มงคลวนิช กล่าวถึงโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยของไทย ที่จัดแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ทันสมัย สร้างจุดต่างตามความถนัดและมีความหลากหลายตามพันธกิจและความเชี่ยวชาญ ภายใต้กลไก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอน 2) การพัฒนาและแสวงหาบุคลากร 3) ความเป็นนานาชาติ 4) การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม 5) การสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ เพื่อรองรับกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ขณะที่ รศ.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ กล่าวว่าจากผลสำรวจสถานการณ์การมีงานทำของกำลังแรงงานไทยในปัจจุบันพบว่ามีเพียง 18% ที่ทำงานตรงกับทักษะและความต้องการ และ 41% ของกำลังแรงงานไทยขาดทักษะที่ช่วยให้เข้าสู่งานที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นความเร่งด่วนของสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องปรับตัวและจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงาน ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและประเทศ โดยเฉพาะในด้านอีคอมเมิร์ชและอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ โดยทักษะสำคัญที่จะเป็นต้องเร่งพัฒนา คือ ทักษะด้านดิจิทัลและทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ โดยในงานร่วมงานสัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน ปี 2024 มีสถาบันอุดมศึกษาไทย 5 แห่งนำร่อง ลงนามความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของจีน ถือเป็นการเปิดประตูสู่ความร่วมมือระดับนานาชาติ