X

Thai EV ย้อนอดีตการส่งมอบรถปิกอัพ EV ให้ MEA

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  524 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Thai EV ย้อนอดีตการส่งมอบรถปิกอัพ EV ให้ MEA

เพจ Thai EV ย้อนอดีตการส่งมอบรถปิกอัพดับเบิ้ลแค็บพลังไฟฟ้าของค่าย JAC MOTORS จำนวน 11 คัน  ให้ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เมื่อ 9 ต.ค. 2566 ตอกย้ำการบุกเบิกตลาดปิกอัพ EV ในประเทศไทย ในจังหวะเวลาที่ตลาดรถกระบะไฟฟ้าในไทยกำลังก่อตัว

วันนี้ (2 ก.ค. 2567) เพจ Thai EV ได้โพสต์ข้อความว่า “JAC MOTORS (บริษัท ไทยอีวี จำกัด) ส่งมอบรถให้ MEA ร่วมขับเคลื่อนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการใช้น้ำมัน เพื่อความยั่งยืนในอนาคต” พร้อมลงภาพบรรยากาศการส่งมอบรถแบบจัดเต็ม โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของ MEA



“อีวีโรด” ติดตามลิงค์เข้าไปดูก็พบว่าเคยมีการส่งมอบ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เนื้อหาระบุว่า นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นตัวแทนรับมอบรถ EV ประเภทรถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ปพลังไฟฟ้า จำนวน 11 คัน ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย โดยมีบริษัท ไทยอีวี จำกัด เป็นผู้ส่งมอบ และมีการส่งมอบกุญแจรถ EV ให้แก่หน่วยงานภายในเพื่อใช้ในกิจการของการไฟฟ้านครหลวง ตลอดจนเป็นการผลักดันการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

รองผู้ว่าการ กล่าวว่า MEA เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการเกิดมลพิษทางอากาศ จึงพร้อมส่งเสริมไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) โดยได้สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า EV Ecosystem รองรับการใช้งาน EV ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองแผนงานด้านพลังงานในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย



นอกจากนี้ MEA ได้ดำเนินนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การเปลี่ยนระบบรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเภท EV และ E-Bus การจัดทำ MEA EV Application โดยมีการร่วมพัฒนาระบบ EV Data Roaming ทำให้ MEA EV Application สามารถแชร์ข้อมูลกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่าง ๆ สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้ใช้งาน สามารถรับข้อมูลที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ให้บริการที่มากขึ้นทั้งในฟังก์ชันการค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการจ่ายค่าบริการ



นอกจากนี้ยังออกแบบระบบบริหารจัดการพลังงานสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (MEA Smart Charging System) ที่สามารถควบคุมการใช้งานพลังงานภายในสถานีอัดประจุไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา โดยเชื่อมโยงกับระบบตรวจประเมินการใช้โหลดของหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer Load Monitoring, TLM) เพื่อป้องกันปัญหาการจ่ายไฟฟ้าเกินพิกัดของหม้อแปลงไฟฟ้า และช่วยในการบริหารจัดการระบบจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิงจาก : https://www.mea.or.th/.../corporat.../announcement/Lc7VqET0a


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้