X

แกะรอย Charge+ กับยุทธศาสตร์การสร้าง EV Charging Highway Southeast Asia ระยะทาง 5,000 ก.ม.!

Last updated: 11 มิ.ย. 2567  |  693 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แกะรอย Charge+ กับยุทธศาสตร์การสร้าง EV Charging Highway Southeast Asia ระยะทาง 5,000 ก.ม.!

การเติบโตอย่างรวดเร็วของยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีมานี้ นอกจากจะเป็นสัญญานบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในตลาดยานยนต์ในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่มีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องขยายตัวรองรับการให้บริการชาร์จรถ EV ตามสถานีบริการน้ำมัน ศูนย์กลางการค้า และชุมชนต่างๆ

ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะคุ้นชินกับการประกาศขยายสถานีให้บริการชาร์จรถ EV ของค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และการไฟฟ้าฯ ด้วยตัวเลขหลักร้อยไปถึงเกือบพันสถานี

แต่ใครเล่าจะรู้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ได้มีผู้ให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศสิงคโปร์อย่าง “Charge+” เดินหน้าปักหมุดจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างจริงจังด้วยการเข้าซื้อกิจการเครือข่ายสถานีชาร์จ Haup ทำให้สามารถเริ่มต้นให้บริการที่จำนวน 50 สถานีในกรุงเทพฯและพัทยา เมื่อกลางปี 2565 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 30,000 สถานีชาร์จในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


สถานีชาร์จ Charge+ ที่สาทร

การปักหมุดจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทย Charge+ ได้วางบทบาทในการขยายตลาดอย่างไร? คุณดวงกมล อนันต์เจริญวัฒน์ Thailand Country Lead Charge+ ให้คำตอบว่า “ชาร์จพลัส เป็นผู้ให้บริการโซลูชันการชาร์จ EV ครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งทำธุรกิจโซลูชัน EV Charger ทั้งหมดในรูปแบบเซอร์วิสโพรไวเดอร์ ให้บริการครบทั้งการโอปะเรชัน การติดตั้ง และให้การบริการหลังการติดตั้ง ปัจจุบันได้มีการโอปะเรทสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าใน 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการเชื่อมโยงจากประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม  ประมาณ 2,000-3,000 จุด ทำให้ปัจจุบันมีจุดชาร์จเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้”


ปี 2566 Charge+ ได้ประกาศยุทธศาสตร์ EV Charging Highway Southeast Asia มีการวางเป้าหมายจะมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC  บนเส้นทางซูเปอร์ไฮเวย์ระยะทาง 5,000 กิโลเมตร เริ่มต้นจากประเทศสิงคโปร์ เชื่อมโยงผ่านมาเลเซีย ไทย กัมพูชา ลากยาวไปถึงกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยจะมีทั้งสถานีชาร์จฯที่ Charge+ เป็นผู้ลงทุน และสถานีของพาร์ทเนอร์ที่สนใจลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ ทั้งในรูปแบบสถานี DC ตามจุดพักรถตามหัวเมืองต่าง ๆ  หรือทำเลที่มีทราฟฟิกเยอะ และสถานีชาร์จแบบ AC ตามที่พัก รีสอร์ท หรือโรงแรมต่าง ๆ

สำหรับในประเทศไทย Charge+ ได้เปิดตัวเข้าสู่ตลาดด้วยการประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ด้วยการเข้าซื้อกิจการเครือข่ายเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 50 แห่งของ Haup ในกรุงเทพฯ และพัทยา เมื่อกลางปี 2565 ทำให้ในปัจจุบันมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยดังนี้

คุณดวงกมล เปิดเผยว่าเทคโนโลยีเครื่องชาร์จ AC ของ Charge+ ขนาด 7.4 กิโลวัตต์ ถูกออกแบบให้มีขนาดกระทัดรัดเหมาะสมกับการติดตั้งตามที่พัก โรงแรม และคอนโดมิเนียม มีความกว้างเพียงแค่ 10 เซนติเมตร ทำให้ใช้พื้นที่ติดตั้งไม่มากนัก แต่ทว่าสามารถชาร์จได้ 2 หัวชาร์จ รองรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ 2 คัน ในส่วนของเครื่องชาร์จ DC มีให้บริการทั้งขนาด 40 , 60 , 120 และ 180 กิโลวัตต์


จุดแข็งของ Charge+ คือการมีเน็ตเวิร์กทั้งเซาท์อีสต์เอเชีย และเป็นเน็ตเวิร์กใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ทำให้ค่ายใหญ่ๆ ที่ให้บริการโพร์ไวเดอร์ส่วนใหญ่ต้องการเป็นพาร์ทเนอร์ในการโรมมิ่งที่อนุญาตให้ผู้ขับขี่ EV จากทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงเครือข่ายการชาร์จของกันและกัน หมายถึงถ้ารีโมทแอปพลิเคชั่นเข้าไปแล้ว ลูกค้าก็จะสามารถใช้เน็ตเวิร์กของเรา ทำให้มีความสะดวกเวลาที่ต้องชาร์จรถ EV ในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Charge+ในประเทศสิงคโปร์


นอกจากนี้ แพล็ตฟอร์มของเรายังสามารถรองรับรถยนต์ได้หลายรุ่น ทุกแบรนด์ ทุกค่าย เท่ากับมีแอปพลิเคชั่น Charge+เพียงแค่แอปเดียวสามารถใช้ได้ทั้งเซาท์อีสต์เอเชีย สมมติต้องการขับรถ EV จากไทยไปมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือจะขับรถยนต์ไฟฟ้าไปกัมพูชา และเวียดนามใช้ Charge+ เพียงแอปฯ เดียวก็สามารถชาร์จรถ EV ได้จบครบ 6 ประเทศ”

สถานี Charge+DC ในประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า Charge+ ได้ประกาศวิสัยทัศน์ว่าเป็นผู้ให้บริการชาร์จ EV ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดชาร์จ EV ประมาณ 2,000 จุดในสิงคโปร์และหลายประเทศในอาเซียน ตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งจุดชาร์จ EV 30,000 จุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2573

Charge+ในประเทศก้มพูชา

ในส่วนของข้อตกลงโรมมิ่งนั้น ได้มีการประสานความร่วมมือในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของ Charge+ บนทางหลวงการชาร์จ EV ซึ่งครอบคลุมระยะทาง 5,000 กม. ใน 5 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แกนหลักการชาร์จ EV ที่ยาวที่สุดในภูมิภาคนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้