X

“พิมพ์ภัทรา”มั่นใจไทยผู้นำท๊อป 10 ฐานการผลิตยานยนต์โลก เดินหน้าวางยุทธศาสตร์ EV เชิงรุกขับเคลื่อนครบทั้งระบบ

Last updated: 8 มี.ค. 2567  |  542 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“พิมพ์ภัทรา”มั่นใจไทยผู้นำท๊อป 10 ฐานการผลิตยานยนต์โลก เดินหน้าวางยุทธศาสตร์ EV เชิงรุกขับเคลื่อนครบทั้งระบบ

รมว.พิมพ์ภัทรา มั่นใจไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์สันดาปของอาเซียน เป็นท๊อป 10 ฐานการผลิตยานยนต์โลก เดินวางยุทธศาสตร์เชิงรุกขับเคลื่อน EV ครอบคลุมรถทุกประเภท ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ มอเตอร์ต้นกำลัง ตัวรถยนต์ ระบบนิเวศครอบคลุมระบบชาร์จ สถานีชาร์จ รวมทั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

นางสาวพิมพ์ภัทรา  วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เริ่มต้นจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ไปสู่การเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปทั่วโลก ด้วยการมี Product champion เช่น รถกระบะ รถ ECO Car โดยในปี 65 ไทยมีการผลิตยานยนต์รวม 1.9 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยถึงจุดอิ่มตัว ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตยานยนต์ของไทยค่อนข้างคงที่ ประมาณ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศประมาณ 1 ล้านคัน และ ส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เช่น การขับขี่อัตโนมัติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นที่มาของการนำมาสู่กระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ความท้าทายเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคต

นางสาวพิมพ์ภัทรา  วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่...ท็อปเทนโลก” ในงานเสวนา เดลินิวส์ ทอล์ก 2024 เช็กความพร้อมยานยนต์ไทย สู่...ท็อปเทนโลก อย่างยั่งยืน พร้อมด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมีคุณปารเมศ  เหตระกูล กรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ให้การต้อนรับ และมีคุณสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คุณพงษ์ศักดิ์  เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนาในหัวข้อ “อนาคตรถสันดาป-รถอีวี ไปทางไหน?” ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567


นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก โดยมีการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนให้ครอบคลุมทุกประเภทรถ ด้านการผลิตครอบคลุมตั้งแต่ตัวแบตเตอรี่และระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ มอเตอร์ต้นกำลัง ตัวรถยนต์ ส่วนด้านระบบนิเวศ ครอบคลุมระบบชาร์จ สถานีชาร์จ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมด้านการผลิตและ ด้านตลาดผู้ซื้อ เป็นต้น

การวางยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ใช้จุดแข็งที่ไทยมีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคเพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ยุทธศาสตร์ในเชิงรับ ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น ยุทธศาสตร์ที่จะเติบโตในตลาดใหม่ ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภทเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นในตลาดโลกมากนัก ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตของไทยที่ยกระดับการเป็นผู้ผลิตและการทำตลาด สำหรับทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก เป็นต้น 


ที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ด EV ปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก” เป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ในปี 2573 หรือที่เรียกว่า “แผน 30@30” ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีมาตรการสนับสนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งมาตรการด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 

สิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ คือ การขับเคลื่อนแผน 30@30 ในส่วนการผลิตที่เหลืออีกร้อยละ 70 ที่ต้องมีการพัฒนาการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ผ่านมาบอร์ด EV ได้เห็นชอบมาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ ICE ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์กึ่งไฟฟ้า ได้แก่ รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด ที่มีการใช้ชิ้นส่วนคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าล้วน BEV เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า และมีเครื่องยนต์ หรือมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยมลพิษได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายสิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิตสำหรับ ECO Car ซึ่งเป็น Product Champion ของประเทศ ให้มีเวลาปรับตัว เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นรถยนต์กึ่งไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องมี supply chain ที่เข้มแข็ง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 


นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่  เพื่อประเทศชาติและประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการจัดการแบตเตอรี่ตลอดวงจรชีวิต รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่ง บอร์ด EV ให้ศึกษาและกำหนดมาตรการ เพื่อส่งเสริมการ Reuse และ Recycle นำแบตเตอรี่ใช้แล้วกลับมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ใหม่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัล และได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้พิจารณาจัดสรรพื้นที่เพื่อรองรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Recycle โดยจะมีการกำหนดมาตรการ แนวทางการส่งเสริมอย่างเร่งด่วนต่อไป

กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมเป็นหน่วยงานหลัก มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์พลังงานสะอาด และพร้อมก้าวเดินไปพร้อมกับภาคเอกชน และประชาชน โดยพร้อมรับฟัง ส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถยืนหยัดในการพัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น และเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง

“การบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อผนวกกับศักยภาพของประเทศไทย ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของสิทธิประโยชน์การลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้มีการวางรากฐานการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท๊อปเทนของฐานการผลิตยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาโลกที่สวยงามใบนี้ พร้อมส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป“ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้