Last updated: 16 ก.พ. 2567 | 602 จำนวนผู้เข้าชม |
ที่ปรึกษา รมว.อุตสาหกรรม เผยความคืบหน้านโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มีผู้ประกอบการรถ BEV ได้รับการส่งเสริม 17 โครงการ วงเงินลงทุน 39,579 ล้านบาท เข้าร่วมมาตรการสนับสนุน 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท สมอ.กำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า 154 มาตรฐาน
นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยการกำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ “ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก” รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการผลิต 30@30
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2573 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการในการส่งเสริม ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฮบริด (HEV) ยานยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) หรือยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน (Battery Electric Vehicle : BEV) และการผลิตชิ้นส่วน 17 ชิ้น รวมทั้งการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) จำนวน 17 โครงการ จาก 16 บริษัท เป็นเงินลงทุน 39,579 ล้านบาท มีกำลังการผลิตสูงสุดตามแผน 359,000 คันต่อปี
2. มาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ (Demand) กรมสรรพสามิตได้กำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (EV3) โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ประกอบด้วย รถยนต์และรถกระบะไฟฟ้า BEV จำนวน 10 แบรนด์ จาก 12 บริษัท และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV จำนวน 3 แบรนด์ โดยมียอดจดทะเบียนใหม่ในปี 2566 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า BEV รวมทั้งสิ้น 75,707 คัน สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.9 เท่า ส่งผลให้ตลาดรถ BEV ไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน
3. มาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ รวม 154 มาตรฐาน โดยมีแผนประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ แบ่งเป็น มาตรฐานแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวม 2 มาตรฐาน และมาตรฐานป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้า และด้านข้างของยานยนต์ รวม 2 มาตรฐาน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดให้บริการทดสอบยานยนต์ และยางล้อ รวมทั้งการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรฐาน UN R100 และ UN R136 ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC จังหวัดฉะเชิงเทรา
นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมปาฐกถา ในหัวข้อ นโยบายการส่งเสริมของภาครัฐด้านยานยนต์ไฟฟ้า ในการเวทีเปิดระดมความคิดเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ากับแนวทางสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมี นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเสวนาปาฐกถา ณ ห้องประชุมบุญปิยทัศน์ อาคารกรมพระสวัสดิ์ฯ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
ที่มา : รัฐบาลไทย