Last updated: 11 ก.พ. 2567 | 370 จำนวนผู้เข้าชม |
“พิมพ์ภัทรา” นำทัพ กระทรวงอุตฯ เยือนญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือ METI แลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน มุ่งพัฒนา 4 ประเด็นหลัก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เสริมสร้างการฟื้นตัวห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม และการพัฒนาพลังงานอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น มุ่งต่อยอดความร่วมมือแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Cooperation Framework) กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) มุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกัน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หารือแนวทางการต่อยอดความร่วมมือ พร้อมแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน ฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
2) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตและในนิคมอุตสาหกรรม
3) การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการส่งเสริมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle)
4) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์สมัยใหม่แห่งภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังได้เข้าหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) โดยร่วมกันวางกรอบแนวทางความร่วมมือไว้ 4 กิจกรรม คือ 1) โครงการการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2) โครงการพัฒนารถบัส รถบรรทุก และรถฟอล์คลิฟต์ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมตามนิคมอุตสาหกรรม 3) โครงการ CCUS หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 4) โครงการรีไซเคิลมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้วยการต่อยอดและขยายผลกรอบการทำงาน (Framework) ฉบับใหม่ ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือและสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมไทยภายังใต้แนวนโยบาย DIPROM Connection
“ความร่วมมือครั้งนี้ เน้นให้อุตสาหกรรมปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ เช่น Robotic, IoT, Automation เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการจัดการ รวมทั้งการยกระดับกระบวนการผลิตทั้งระบบสู่แนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมาใช้ใหม่และการพัฒนาพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ การรีไซเคิล - อัพไซเคิล วัสดุต่าง ๆ อย่างครบวงจร โดยเฉพาะซากยานยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นโดยตลอด มาตรการเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและเปรียบได้กับบัตรผ่านทางสู่เวทีโลกในอนาคต” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : รัฐบาลไทย