X

แนวโน้มอุตฯรถยนต์ปี 2567-2569 หลังสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษียานยนต์ BEV HEV PHEV และ ICE ใหม่หมด!

Last updated: 15 ม.ค. 2567  |  2581 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แนวโน้มอุตฯรถยนต์ปี 2567-2569 หลังสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษียานยนต์ B

ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีรถยนต์สันดาปสู่รถยนต์พลังงานใหม่ทั้งในส่วนของรถ BEV HEV และ PHEV นั้น เป็นผลมาจากนโยนบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์แบบ ZEV (Zero Emission Vehicle)  ให้มีสัดส่วน 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573

นโยบายดังกล่าวเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยานยนต์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กับการออกมาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า BEV ของรัฐบาล ซึ่งวิจัยกรุงศรี ได้มีการสรุปไทม์ไลน์ของมาตรการต่าง ๆ ไว้ในบทวิเคราะห์ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในระยะ 3 ปี ข้างหน้า (ปี 2567-2569) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยานยนต์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีสาระสำคัญดังนี้

 ปรับลดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้แคบลง โดยกำหนดเกณฑ์เพิ่มจากเดิม 4 ระดับเป็น 5 ระดับ ได้แก่ CO2<100 กรัม/กม., 100-120 กรัม/กม., 121-150 กรัม/กม., 151-200 กรัม/กม. และ >200 กรัม/กม. จากเดิม 4 ระดับ เพื่อส่งเสริมให้ยานยนต์ลดการปล่อยก๊าซ CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น

  • กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถ HEV (Hybrid Electric Vehicle) และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ดังนี้

      - รถ HEV ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569-31 ธันวาคม 2570เก็บภาษีอัตรา 6-24% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571-31 ธันวาคม 2572 อัตรา 8-26% และช่วงที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป อัตรา 10-28% ส่วนรถ HEV ความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc เก็บภาษี อัตรา 40% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569

      -  รถ PHEV ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc กรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 80 กม./การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร อัตราภาษีอยู่ที่ 5% ส่วนกรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ต่ำกว่า 80 กม. และถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตรจัดเก็บอัตรา 10% สำหรับรถ PHEV ความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc เก็บภาษีอัตรา 30% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569
  • ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ICE (Internal Combustion Engine) ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 แบบขั้นบันได ทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2569 อาทิ
      - รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569- 31 ธันวาคม 2570 จัดเก็บภาษuอัตรา 13-34% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571-31 ธันวาคม 2572 อัตรา 14-36% และ ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป อัตรา 15-38%
      - รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc จัดเก็บภาษี 50% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม CO2
  • ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV จาก 8% เหลือ 2% เพื่อส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์แบบ ZEV (Zero Emission Vehicle)  ที่สัดส่วน 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573
  • ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถกระบะและอนุพันธ์ของรถกระบะ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซ CO2 การสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถกระบะไฟฟ้าแบบ BEV และแบบ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 2% และ 0% ของราคาจำหน่าย ตามลำดับ
  • ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ ICE และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ HEV และแบบ PHEV ตามการปล่อยก๊าซ CO2 คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569-31 ธันวาคม 2572 จัดเก็บภาษีอัตรา 4% (ปล่อย CO2 <50 กรัม/กม.) อัตรา 6% (CO2 51-90 กรัม/กม.) อัตรา 10% (CO2 91-130 กรัม/กม.) และอัตรา 20% (CO2 >130 กรัม/กม.) และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จัดเก็บภาษี 5-10-15-25% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV  กำหนดอัตราภาษีที่ 1% เพื่อส่งเสริมการใช้และผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ


 มาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า BEV โดยภาครัฐอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5 สำหรับช่วงระยะเวลา 2567-2570) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในวงเงิน 50,000 - 100,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ในวงเงิน 5,000 - 10,000 บาท/คัน

 การปรับลดภาษีประจำปีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า BEV โดยรถที่จดทะเบียนระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2568 ให้ปรับลดภาษี 80% ของอัตราภาษีประจำปี เป็นเวลา 1 ปี เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 และปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ


ที่มา : วิจัยกรุงศรีฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้