Last updated: 14 ธ.ค. 2566 | 1316 จำนวนผู้เข้าชม |
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยออกบทวิเคราะห์เรื่อง “เทรนด์รถยนต์ EV ในตลาดโลกกับความพร้อมการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” ทีมงาน ev-roads เห็นว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งจึงนำมาเผยแพร่ต่อ...
อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอันดับต้น ๆ ตลอดจนเกี่ยวเนื่องกับซัพพลายเชน ทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Hub of Asia Pacific) จนถูกขนานนามว่าเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia)
หากมองในแง่ของอาเซียน ไทยยังคงเป็นอันดับหนึ่งอยู่ ทั้งเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัย พื้นที่ภูมิศาสตร์ บวกกับทักษะบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นแต้มต่อให้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีข่าวย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นก็ตาม
แต่เมื่อกระแสและบริบทโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับมิติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมต้องไม่มีการปล่อยมลพิษ ส่งผลให้กระแสยานยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า รถ EV (Electric Vehicle) เข้ามาแทนที่เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ซึ่งขณะนี้มีผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายเริ่มปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ
ประกอบกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ภาครัฐได้เปิดไฟเขียวสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาคเพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศมากขึ้น ตลอดจนนโยบายสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต ตามประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 ก็ยิ่งเป็นการสำทับเรื่องมิติสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
การเติบโตของตลาดรถ EV ต้องยอมรับว่าช่วงแรก ๆ ยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้มากเท่าที่ควร เพราะยังมีความลังเลว่าแบบไหนดีกว่าและคุ้มกว่ากัน ระหว่างรถ EV กับรถที่ใช้น้ำมัน แต่ปัจจุบันเริ่มคึกคักบ้างแล้ว โดยสังเกตว่ามีหลายแบรนด์/รุ่นรถ EV จากต่างประเทศเข้ามาเปิดตลาดและตั้งฐานการผลิตที่ไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งในแง่ทิศทางการลงทุนของอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสเติบโตสูงทีเดียว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงและจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2565 โดยแบ่งออกเป็น
1.ประเภทรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle : BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 9,808 คัน เพิ่มขึ้นจากตุลาคม 2565 ร้อยละ 41 และจดทะเบียนสะสมมีจำนวน 109,488 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 312.74
2.ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าผสม (Hybrid Electric Vehicle : HEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,613 คัน ลดลงจากตุลาคม 2565 ร้อยละ 31 และจดทะเบียนสะสมมีจำนวน 330,771 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 31.91
3.ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 849 คัน เพิ่มขึ้นจากตุลาคม 2565 ร้อยละ 56 และจดทะเบียนสะสมมีจำนวนทั้งสิ้น 52,677 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 29.14
จากภาพรวมดูเหมือนว่ารถ EV จะเป็นเมกะเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งถือว่ายังมีอุปสรรคและความท้าทายอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแบตเตอรี่ การบำรุงดูแลรักษา ความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และเวลาในการชาร์จไฟฟ้านานที่ถือว่าเป็นจุดอ่อน
สำหรับในปี 2567 ต้องจับตาดูต่อว่า นอกจากผู้ผลิต 4 ค่ายยักษ์ใหญ่จากสัญชาติจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ทยอยกันออกมาแล้วจะมีผู้ผลิตจากประเทศใดเข้ามาลงทุนผลิตในไทยอีกบ้าง ซึ่งน่าจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งระบบนิเวศของรถ EV (EV Ecosystem) ภายในประเทศเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าต้องทั่วถึง มาตรการและนโยบายทางภาษี เป็นต้น
ข้อควรรู้ (อ้างอิงข้อมูลจาก ความรู้ยานยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้น โครงการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันยานยนต์) :
ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle คือยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรือทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่