Last updated: 12 ก.พ. 2567 | 612 จำนวนผู้เข้าชม |
บีโอไอ จัดงาน BOI & BIG BUYER EXECUTIVE MEETING มุ่งยกระดับ Supply Chain ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ภายในงานมี Big Buyer จากอุตสาหกรรมยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้า เข้าร่วมทั้งสิ้น 26 บริษัท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “BOI & BIG BUYER EXECUTIVE MEETING” เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 โดยงานนี้จัดคู่ขนานกับงาน Maintenance, Industrial Robotics, and Automation (MIRA), Subcon EEC และ EEC Cluster Fair 2023 ณ สวนนงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้แทนบริษัทรายใหญ่ (Big Buyer) จากอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เข้าร่วมทั้งสิ้น 26 บริษัท และมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 60 คน
ทั้งนี้ นับเป็นปีแรกที่มีการจัดงาน BOI & BIG BUYER EXECUTIVE MEETING ภายใต้แนวคิด “ความร่วมมือการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ” เพื่อยกระดับความสำคัญของ Supply Chain โดยเฉพาะชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่มีศักยภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากลในการเป็น Local Suppliers เพื่อป้อนชิ้นส่วนอุตสาหกรรมให้แก่บริษัทรายใหญ่ทั่วโลกที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย
ในโอกาสร่วมเปิดงานครั้งนี้ เลขาธิการบีโอไอ ได้เปิดเผยถึงเหตุผลที่ให้ความสำคัญกับภารกิจเชื่อมโยงอุตสาหกรรม เพราะตระหนักดีว่าในการสร้างฐานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์หรือยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบอัตโนมัติ (Automation) นั้น มี หัวใจสำคัญ คือ Supply Chain หากมี Supply Chain ที่ครบวงจรและเข้มแข็ง ก็จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืน และทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนตามไปด้วย
การที่บีโอไอเชิญบริษัทชั้นนำจากต่างชาติเข้ามาลงทุน จะสร้างโอกาสให้เกิดการซื้อชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศตามมาอีกมาก ในแง่บริษัท หากต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนมาทั้งหมด ต้นทุนการขนส่งจะสูง และประเทศไทยก็จะไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นบีโอไอจึงมีนโยบายและบริการที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติสามารถทำ Sourcing ชิ้นส่วนจากในประเทศให้มากที่สุด
“เรามองเห็นศักยภาพของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศว่ามีคุณภาพและมีมาตรฐานสากล ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาผู้ผลิตเหล่านี้ได้สั่งสมประสบการณ์และทักษะ และมีขีดความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบริษัทชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ซื้อจากญี่ปุ่น เยอรมัน หรืออเมริกา เราจึงต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยภายในประเทศโดยเฉพาะ SMEs ไทย เข้าไปอยู่ใน Global Supply Chain”
“งานในวันนี้เป็นการตอกย้ำว่า Supply Chain ของไทยมีความสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนและมีพลวัตอย่างมาก เพราะบริษัทชั้นนำขอให้บีโอไอช่วยเสริมแกร่ง Supply Chain อื่น ๆ นอกเหนือจากชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยจัดหาแหล่งกำลังคนที่มีศักยภาพ พื้นที่ตั้งโรงงานที่เหมาะสม แหล่งพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการจัดการระบบโรงงานด้วยระบบดิจิทัลสมัยใหม่ เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็น E-Factory และการลงทุนที่ยั่งยืน และไม่ว่าการทำ Sourcing ในประเทศจะเกิดขึ้นในระดับใด ก็ถือว่าเป็นความสำคัญและแสดงถึงศักยภาพของไทยทั้งสิ้น” เลขาธิการบีโอไอกล่าวในที่สุด
ที่มา : บีโอไอ