Last updated: 17 ส.ค. 2566 | 983 จำนวนผู้เข้าชม |
กฟผ. เปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้า 28 คันที่นำมาใช้งานแทนรถบัสดีเซล ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อลดปัญหามลภาวะและการจราจร สร้างลำปางให้เป็นเมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เผยรณรงค์ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในองค์กรต่อเนื่อง เช่น ปรับรถประจำตำแหน่งผู้บริหารเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด และจะปรับเปลี่ยนรถของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้า “ชาร์จไฟใส่ EV ชาร์จอากาศดี ๆ ให้โลกเรา” โดยมี นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน พร้อมด้วย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คณะผู้บริหาร กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำปางและอำเภอแม่เมาะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้นำชุมชน อ.แม่เมาะ ร่วมงาน ณ กฟผ. แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปางได้ร่วมมือกับ กฟผ. แม่เมาะ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ชุมชนแม่เมาะ พัฒนาอำเภอแม่เมาะให้เป็นเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) โดยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่แม่เมาะ เพื่อมุ่งสู่เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของจังหวัดลำปาง สอดรับกับนโยบาย Carbon Neutrality ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุ Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2065
งานเปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้าในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงอีกหนึ่งการดําเนินงานของ กฟผ. ที่ช่วยส่งเสริมนโยบายดังกล่าวให้ลุล่วง ด้วยการเปลี่ยนจากการใช้รถสันดาปภายในเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเกิดความคล่องตัวในการจราจรบนท้องถนนจังหวัดลําปางอีกด้วย
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. มีนโยบายในการสนับสนุนการนำรถมินิบัสไฟฟ้ามาใช้ในพื้นที่ของ กฟผ. เริ่มที่ กฟผ. สำนักงานใหญ่ ศูนย์การเรียนรู้ และที่ กฟผ. แม่เมาะ แห่งนี้มีจำนวนมากที่สุดถึง 28 คัน ดำเนินการ โดย บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. ช่วยส่งเสริมนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
และเป็นการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่เมาะและจังหวัดลำปางสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ให้แม่เมาะและจังหวัดลำปางเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยหันมาใช้รถบัสไฟฟ้าแทนรถบัสดีเซลแบบเดิม ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากไอเสียของยานยนต์ และช่วยเพิ่มความคล่องตัวบนท้องถนนด้วยรถที่ขนาดเล็กลง
สำหรับค่าเชื้อเพลิงเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันแล้ว รถมินิบัสไฟฟ้าจะใช้พลังงานเฉลี่ย 0.6 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อ 1 กิโลเมตร หรือคิดเป็นค่าไฟประมาณ 2.90 บาทต่อกิโลเมตร ในขณะที่รถน้ำมันจะมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงประมาณ 8 บาทต่อกิโลเมตร
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. ยังมีการรณรงค์ใช้รถไฟฟ้าในองค์กร เช่น มีการปรับรถประจำตำแหน่งผู้บริหารเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด และในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนรถสำหรับใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ กฟผ. มุ่งมั่นสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ในระดับประเทศ ผ่านการดำเนินงานและการร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ การติดตั้งสถานีชาร์จ EleX by EGAT ทั่วประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2566 ตั้งเป้าหมายขยายสถานีและสถานีพันธมิตรในเครือข่าย จำนวนรวม 180 สถานี รวมทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA สำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า BackEN EV สำหรับองค์กรและภาคธุรกิจ
3 ก.ย. 2567