X

PTEC สวทช. เปิดบ้านโชว์ศูนย์วิเคราะห์ ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า

Last updated: 15 ส.ค. 2566  |  1040 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PTEC สวทช. เปิดบ้านโชว์ศูนย์วิเคราะห์ ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า EV

ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ PTEC สวทช.พร้อมด้วยทีมวิศวกรและเจ้าหน้าที่สนับสนุน เปิดบ้านให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์พิเศษ EV ปลอดภัย ต้องใส่ใจมาตรฐานการทดสอบสากล ในกิจกรรม NSTDA Meets the Press พร้อมให้เยี่ยมชมมาตรฐานการวิเคราะห์ทดสอบด้านยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ห้องปฏิบัติการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า 9 แลปทดสอบ ดังนี้

1.ห้องปฏิบัติการทดสอบด้าน EMC ทำการสัญญานรบกวนที่ออกมาจากรถยนต์ในขณะที่กำลังทำงาน เป็นคลื่นความถี่ที่ออกมาแล้วไปกวนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในรถยนต์ หรือบริเวณข้างถนนที่รถยนต์ขับเคลื่อนผ่านไป

2.การทดสอบชิ้นส่วนต่างๆ ในรถยนต์ ต้องผ่านมาตรฐาน เพราะผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ต้องการซื้อโพรดักส์ที่ดีมีคุณภาพมาตรฐานไปประกอบเป็นรถยนต์

3.การทดสอบการบีบอัดของแบตเตอรี่ ดูว่าโครงสร้างของแบตเตอรี่มีความแข็งแรงแค่ไหน เมื่อมีการบีบอัดไปแล้ว ไม่ประทุไฟออกมา

4.การขนส่งแบตเตอรี่แบบต่างๆ ต้องมีการจัดการแบบไหน มีการวางไว้ทิศทางแบบไหน ของเหลวแบบต่างๆ ต้องไม่รั่วซึมออกมา จนทำให้เกิดการลัดวงจรขึ้นมา

5.การทดสอบการสั่น ด้วยการนำเอาแบตเตอรี่ไปสั่นที่สภาวะต่างๆ เพื่อจำลองว่า แบตฯที่ติดตั้งในรถแล้ววิ่งในถนนที่ขรุขระ ตกหลุม หรือหลังเต่า ฯลฯ  แล้วยังคงปลอดภัยอยู่

6.การทดสอบการช็อตตัวแบตเตอรี่ คือการเอาขั้วบวกลบมาช็อตรวมกัน ดูว่าตัวแบตฯมีการป้องกันการลัดวงจรแค่ไหน

7.การขนส่งแบตเตอรี่ผ่านทางเครื่องบิน หรือการใช้งานพวกโดรนต่างๆ ที่มีการบินสูงๆ จะมีอันตรายแค่ไหน ก็มีการจำลองเหตุการณ์ทดสอบเรื่องความกดอากาศต่ำๆ ให้ดูว่าบวม หรือแตกอย่างไร

8.การทดสอบเรื่องของที่ชาร์จแบตเตอรี่ ภายใต้อุณหภูมิต่าง ๆ

9.การทดสอบการป้องกันการระเบิดของชิ้นส่วนต่างๆ ที่จะเข้าไปประจำการในสถานีน้ำมัน เนื่องจากปัจจุบันสถานีบริการมีหัวชาร์จอีวีอยู่ด้วย หากเกิดกระแสไฟฟ้าสูงๆ มีการลัดวงจร แล้วเกิดไฟไหม้ขึ้นมา มักจะไม่ไหม้เฉพาะหัวจ่าย แต่จะไหม้ละอองน้ำมันที่อยู่แถวนั้นด้วย ต้องมีการทดสอบความปลอดภัยในด้านนี้ด้วย

ดร.ไกรสร กล่าวว่าจากนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ที่มีมาตรการออกมาหลายด้าน ทำให้ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้า EV ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในปีนี้สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ได้ประเมินว่าในปี 2566 นี้ จะมียอดสะสมรถยนต์ไฟฟ้า ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เป็นรถ BEV 65,337 คัน  PHEV 47,543 คัน รถ HEV 297,955 คัน  มีสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า 1,482 แห่ง นับเป็นประเทศต้นๆ ในอาเซียนที่มีอัตราการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาก

ทั้งนี้ การเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผู้บริโภคควรให้ความสนใจในเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก การประหยัดน้ำมัน และควรคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า และหัวชาร์จไฟฟ้า ที่ติดตั้งในบ้าน และในพื้นที่ให้บริการชาร์จสาธารณะอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่างๆ ให้ปลอดภัย ต้องพิจารณาดูชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าว่าผ่านมาตรฐานการทดสอบมาแล้วหรือไม่

ดร.ไกรสร เปิดเผยถึงการเปิดบ้านให้เยี่ยมชมศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC สวทช.ในส่วนของการทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในครั้งนี้ว่าปัจจุบันมีความพร้อมในการให้บริการทดสอบชิ้นส่วนสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้าหลายประเภท ตั้งแต่ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ระบบไฟส่องสว่าง หัวชาร์จ การทดสอบ EMC สำหรับยานยนต์ทั้งคัน ฯลฯ โดยใช้มาตรฐานมอก.เป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังให้บริการทดสอบเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะให้แก่ค่ายยานยนต์ที่ตั้งโรงงานประกอบในประเทศไทย และมีมาตรฐานเป็นชิ้นส่วนของตนเอง เพื่อให้สามารถส่งชิ้นส่วนไปจำหน่ายในตลาดยุโรป ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งในช่วง 1-2 ปี ที่ยานยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตก้าวกระโดด ได้มีการเทสต์แบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากที่สุดถึง 80% ของตลาด อย่างเช่นมีการเทสต์ของค่ายฮอนด้า ยามาฮ่า เป็นต้น

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าขณะนี้ยังไม่มีการทดสอบตัวรถอีวี แต่ปัจจุบัน PTEC ได้ทำงานร่วมกับค่ายรถญี่ปุ่นชั้นนำที่ทำงานร่วมกันมานานกว่าสิบปี แต่ยังไม่ได้ทำการทดสอบรถอีวี และถ้าดีลครั้งนี้สำเร็จจะเป็นการเทสต์ครั้งยิ่งใหญ่ ขณะเดียวกันในส่วนของค่ายรถไฟฟ้ารายใหญ่อย่างเทสลานั้น ได้ทำงานร่วมกันในส่วนของสถานีชาร์จ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบในต่างประเทศ สมอ.ใช้วิธีการยอมรับรีพอร์ตต่างประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไทยไม่มีอินฟรานสตรัคเจอร์ ไม่มีฐานในการที่จะเทสต์ได้ครบ จึงต้องไปเทสต์ต่างประเทศ ต่อไปในอนาคตถ้าทำการทดสอบในประเทศไทยได้ทั้งหมด ก็จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนง่ายขึ้น

ดร.ไกรสร กล่าวว่าปัจจุบัน PTEC มีความพร้อมในการทดสอบแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ตามมาตรฐานสากลเพื่อใช้งานในประเทศ ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และทดสอบตามความต้องการเฉพาะของค่ายยานยนต์ต่างๆ เพื่อการทำ R&D ในบริษัทผู้ผลิตหรือพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ โดยมีอัตราค่าทดสอบที่ย่อมเยากว่าส่งไปทดสอบต่างประเทศหลายเท่า ทั้งนี้ราคาทดสอบขึ้นอยู่กับแบรนด์และหัวข้อในการทดสอบ

“ยกตัวอย่างการทดสอบแบตเตอรี่ สมอ.กลางประกาศราคาทดสอบแบตเตอรี่ลูกนึงประมาณ 7 แสน-1 ล้านกว่าบาท ขึ้นอยู่กับไซส์ของแบตเตอรี่ ถ้าเทียบกับการทดสอบแบตเตอรี่ในต่างประเทศราคาไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท ถ้าไม่มีคิวจะใช้เวลาทดสอบประมาณ 2 เดือน การเทสต์จะละเอียดมาก และมีขั้นตอนเยอะมาก”

นอกจากนี้ PTEC ยังได้รับการขึ้นทะเบียนจาก ASEAN SECTORAL MRA ON ELECTRICAL AND ELECTRONIC EQUIPMENT (ASEAN EE MRA) เมื่อเดือนกันยายน 2561 ให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ของภายใต้ข้อตกลงการค้าอาเซียน โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนให้การยอมรับมากถึง 7 ประเทศ ได้แก่บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และเวียดนาม อีกทั้งยังได้รับการยอมรับให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบ EMC สำหรับการนำสินค้าเข้าสู่ประเทศเวียดนาม จากหน่วยงาน QUACERT ซึ่งเป็นเสมือน สมอ.ของประเทศเวียดนาม อีกด้วย

ขณะเดียวกันในด้านชิ้นส่วนยานยนต์ PTEC ได้ลงนามความร่วมมือกับ SGS ประเทศฟินแลนด์ เพื่อทำให้ชิ้นส่วนด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ สามารถทดสอบ EMC ได้ในประเทศไทย โดยสามารถเข้าตรวจโรงงานผลิตได้  PTEC จะนำผลการทดสอบและตรวจโรงงานเพื่อขอเครื่องหมาย E mark จากกรมการขนส่งทางบกของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองยานยนต์สากล ทำให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถส่งผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ไปจำหน่ายประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้อีกด้วย

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ PTEC สวทช.ได้ที่ sales@ptec.or.th โทร : 02 117 8600 ฝ่ายการตลาด ต่อ 8611-8614

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้