Last updated: 15 ส.ค. 2566 | 807 จำนวนผู้เข้าชม |
กระแสความนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่เติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้ในรถ EV ปัจจุบันนั้นใช้กราไฟต์ที่เป็นคาร์บอนฟอสซิล สามารถขุดหรือทำจากวัสดุฟอสซิลอื่นๆ ภายใต้การทำเหมืองแร่ อันก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากมาย ‘Stora Enso’ บริษัทผลิตวัสดุหมุนเวียนในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จึงได้คิดค้น ‘Lignode (ลิกโนด)’ แบตเตอรี่ที่ทำจากต้นไม้ขึ้นมาเพื่อหวังจะให้เป็นวัสดุทดแทนในอนาคต
แบตเตอรี่ดังกล่าวจะมีส่วนผสมของคาร์บอนที่ผลิตได้จาก ลิกนิน (Lignin) หรือส่วนของผนังเซลล์พืชที่ทำหน้าที่เป็นสารยึดเกาะและทำให้ไม้มีความแข็งและต้านทานต่อการเน่าเปื่อย ซึ่งปกติแล้วภายในต้นไม้แต่ละต้นจะประกอบด้วยลิกนินประมาณ 20–30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ลิกนินเป็นหนึ่งในแหล่งคาร์บอนหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งเลยก็ว่าได้
ลิกนินเป็นแหล่งชีวภาพที่มีมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากเซลลูโลส ขณะนี้มีการนำลิกนินไปใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมเพียง 2% เท่านั้น บริษัทจึงได้วางแผนที่จะพัฒนาแบตเตอรี่จากลิกนินอย่างต่อเนื่อง
กระบวนการผลิตแบตเตอรี่ Lignode เริ่มจากการแยกลิกนินออกจากเนื้อไม้ และกลั่นบริสุทธิ์จนได้ออกมาเป็นผงคาร์บอนละเอียด (Fine Carbon Powder) เพื่อใช้เป็นวัสดุสำหรับทำขั้วบวก-ลบของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ในชื่อ ‘ผงคาร์บอนแข็ง (Hard Carbon Powder)’ จากนั้นจะถูกนำมาใช้ต่อเพื่อผลิต ‘อิเล็กโทรดคาร์บอนแข็ง (Hard Carbon Electrode)’ แบบแผ่นและม้วน ที่จะรวมกับขั้วไฟฟ้าบวก (Positive Electrodes) ตัวคั่น (Separator) อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) และส่วนประกอบอื่นๆ จนได้ออกมาเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากลิกนินในที่สุด
Stora Enso ระบุว่า แบตเตอรี่จากต้นไม้นี้จะช่วยลดระยะเวลาการชาร์จลงได้ 30–40 นาที เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป และมีราคาที่ถูกลงกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในปัจจุบัน
‘Lignode’ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีความยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนสำหรับรถยนต์ EV ในอนาคต
อ้างอิง : https://bit.ly/3Mf7w78, https://bit.ly/3BQtau1
ที่มา : เพจสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน