Last updated: 4 ต.ค. 2566 | 1299 จำนวนผู้เข้าชม |
กระแสรถ EV ที่มาแรงอยู่ในขณะนี้มีส่วนทำให้ธุรกิจสถานีชาร์จแจ้งเกิดตามไปด้วย โดยส่วนใหญ่มักจะมุ่งเจาะตลาดสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แต่ EV PLUS เลือกเจาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่แทน
“ก่อนหน้านี้เราเคยทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและไฟฟ้าอยู่แล้ว เห็นว่าอีวีกำลังมาแรงก็เลยเข้ามาศึกษาธุรกิจอีวีชาร์จเจอร์ จนได้พาร์ทเนอร์เป็นโรงงานผลิตในประเทศจีน นำเข้ามาจำหน่ายเป็นแบรนด์ EV PLUS ของเราเอง” ทศพล ด้วงมี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวี พลัส จำกัด เล่าถึงความเป็นของบริษัทฯ ที่ตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจนี้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา
ก่อนตัดสินใจเข้าสู่ตลาดสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทีมงานของอีวีพลัสได้ศึกษาตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอย่างละเอียด และมองเห็นแนวโน้มตลาดว่ามีผู้ประกอบการเข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลจำนวนมาก แต่ตลาดเครื่องชาร์จอีวีรถใหญ่ยังมีช่องว่างอยู่ จึงมุ่งเป้าให้บริการเครื่องชาร์จรถยนต์ขนาดใหญ่สำหรับรถบัส รถบรรทุก รถหัวลาก ฯลฯ
“เรามองเห็นแนวโน้มตลาดจากการที่เห็นบริษัทลอจิสติกส์ใหญ่ๆ อย่างดีเฮชแอล หรือไปรษณีย์ไทย เริ่มมีนโยบายรักษ์โลก ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่ง จึงคิดว่าไปโฟกัสตลาดตรงนั้นดีกว่า ประกอบกับตลาดที่ขายเครื่องชาร์จให้กับผู้ใช้ตามบ้านมีอยู่หลายเจ้า และการแข่งขันค่อนข้างสูง เราจึงมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นรถใหญ่แทน”
เมื่อเลือกช่องทางการทำตลาดได้อย่างชัดเจน EV PLUS ก็รุกหนัก จนมีผู้สนใจสั่งซื้อหัวชาร์จ DC Charger จำนวนมากถึง 10 หัวชาร์จ ล่าสุดได้ติดตั้งสถานีชาร์จไปแล้วจำนวน 2 หัวชาร์จ ที่แหลมฉบัง อ.ศรีราชา โดยมีลูกค้ากำลังรอรับมอบเครื่องชาร์จอีกจำนวนหนึ่ง
ความสำเร็จในการเจาะตลาดสถานีชาร์จขนาดใหญ่ของอีวีพลัสเกิดจากความชัดเจนของแบรนด์ EV PLUS ที่ไม่เป็นเพียงแค่การนำเครื่องชาร์จไปติดตั้งเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การบริการอย่างครบวงจรด้วย
“ข้อดีของ EV PLUS คือเป็นบริษัทฯที่อยู่ในประเทศไทย การเซอร์วิสของเราอยู่ในประเทศ เวลาติดต่อสื่อสารก็ใช้ภาษาเดียวกัน ทำให้สามารถให้บริการได้รวดเร็วทันสถานการณ์ และเรามีครบทั้ง 3 พาร์ทของการให้บริการอีวีชาร์จเจอร์ คือ ขาย ติดตั้ง และให้บริการซอฟท์แวร์”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมุ่งโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้บริการชาร์จรถยนต์ขนาดใหญ่ แต่ในส่วนของเครื่องชาร์จนั้น EV PLUS มีจำหน่ายทั้งของรถเล็กและรถใหญ่ โดยเครื่องชาร์จ DC Charger ขนาด 30-60 กิโลวัตต์ ราคาจะอยู่ที่ 4-5 แสนบาท ขนาด 90-180 กิโลวัตต์ ราคา 1.7-1.8 ล้านบาท และเครื่องชาร์จขนาด 300 กิโลวัตต์ จะมีราคาสูงขึ้นอีกประมาณ 30%
EV PLUS มีมุมมองว่าตัวเครื่องชาร์จแทบไม่มีอะไรแตกต่างจากแบรนด์อื่น แต่จุดเด่นของแบรนด์อยู่ที่การเซอร์วิสลูกค้าในประเทศ ในรูปแบบวันสตอปเซอร์วิส ถ้ามีลูกค้าเดินเข้ามาหา บริษัทพร้อมให้บริการในรูปแบบพาร์ทเนอร์อีวีชาร์จเจอร์ มีทีมวิศวกรดูแล ทั้งการออกแบบ และการติดตั้ง
ด้านการบริการมีทีมช่างไฟฟ้าที่ผ่านการอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผ่านการอบรมการติดตั้งอีวีชาร์จเจอร์จาก สวทช. ส่วนการติดตั้งเป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้าภูมิภาคและนครหลวง หลังจากติดตั้งไปแล้วนอกจากมั่นใจได้ว่าจะมีทีมเซอร์วิสคอยให้บริการตลอดแล้ว รวมทั้งมีการรับประกันเครื่องชาร์จนาน 2 ปี
“ขั้นตอนการติดตั้ง เราจะมีการไปสำรวจหน้าไซส์งานก่อนว่าพื้นตรงนั้นเป็นอย่างไร มีหม้อแปลงขนาดเท่าไหร่ หากต้องติดตั้งเครื่องชาร์จจำเป็นต้องเปลี่ยนหม้อแปลงไหม มีมิเตอร์ขนาดเท่าไหร คือจะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เราจะมีเช็กลิสต์ให้กับผู้ที่สนใจ ให้เข้ามากรอกเซ็กลิสต์ให้เรา เมื่อได้ข้อมูลมาเราก็จะสามารถประเมินราคาให้ได้” คุณทศพล กล่าวในตอนท้าย