X

เป้าหมายของ Sleek EV คือผู้ต้องการจ่ายค่าเดินทางถูกลง และสะอาดกว่า

Last updated: 3 พ.ค. 2566  |  1195 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เป้าหมายของ Sleek EV คือผู้ต้องการจ่ายค่าเดินทางถูกลง และสะอาดกว่า

ช่วงเวลานี้นับว่าเป็นนาทีทองของรถยนต์ไฟฟ้าที่ค่ายยักษ์ใหญ่หลายรายคว้ายอดจองกันไปได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากลับยังไม่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นยานพาหนะราคาไม่แพงและเข้าถึงง่ายน่าจะทำให้เกิดปรากฏการณ์คนแห่จองมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาสูงกว่าหลายเท่า

สาเหตุที่ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังไม่ร้อนแรงเท่ารถยนต์ไฟฟ้านั้น หลายฝ่ายประเมินว่าเป็นเพราะยังไม่มีภาพผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาลงทุนในตลาดนี้อย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันค่ายที่เป็นผู้นำตลาดอย่างฮอนด้า หรือแบรนด์รองๆ ลงไปอย่างยามาฮ่า ฯลฯ ก็ยังไม่ได้รีบส่งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้ามาลุยตลาดอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็ยังคงทำตลาดคล้ายๆ การซื้อขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแตกต่างจากผู้ประกอบการมอเตอร์ไซค์ทั่วไป จึงทำให้ไม่สามารถกระตุ้นให้ตลาดแจ้งเกิดได้โดดเด่นเท่ารถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายอดเติบโตจะไม่พุ่งแรงเท่ารถยนต์ แต่ก็มีผู้ประกอบการหน้าใหม่หลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ หนึ่งในนั้นมี Sleek EV ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 โดยได้มีการแนะนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดพร้อมกันทีเดียว 4 รุ่น คือ SLEEK TYPE-V,TYPE-V GT,TYPE- S และ SLEEK ONE 

จุดเด่นของ Sleek EV คือการประกาศกลยุทธ์ตลาดที่ให้ความสำคัญกับดีลเลอร์สายออโตโมทีฟ ซึ่งในเบื้องต้นมีอยู่ 22 ราย โดยมีเป้าหมายขยายเป็น 70 ราย พร้อมทั้งประกาศเตรียมขยายสถานีสลับแบตเตอรีพร้อมกันทีเดียว 225 จุด ภายในปี 2023 โดยขณะนี้สามารถระดมทุนจากนักลงทุนสิงคโปร์ได้ 10 ล้าน USD

การเปิดตัวแบรนด์ที่มีความพร้อม 3 ประการ คือ ตัวสินค้า ผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) และแผนขยายสถานีชาร์จ ขณะที่ในด้านเงินลงทุนก็สามารถระดมมาได้จากนักลงทุนสิงคโปร์ มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพ ที่บริหารงานโดยคนหนุ่มเลือดใหม่ไฟแรงอย่าง นายกันตินันท์ ตันวีนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สลีค อีวี จำกัด เป็นที่น่าจับตามองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 



จุดเริ่มต้นชีวิตการทำงาน

ผมทำงานมาตั้งแต่เรียนด้านการเงิน ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนเรียนอยู่ปีสามก็เริ่มสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ อังกฤษ และภาษาจีน พอเรียนถึงปีสี่ก็หางานทำ ตอนสมัครงานจะเป็นคนที่ไม่เกี่ยงเรื่องเงินเดือน ทำให้ได้รับโอกาสให้ทำงานที่ Union SPACE ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Co-Working Space ย่านเอกมัย ต้องขับรถจากนครปฐมมาทำงานเอกมัย เดินทางไกลมากแทบทุกวัน แต่ตอนนั้นไฟแรงสามารถทำได้ เป็นคนทำงานหนัก ยินดีทำงานถึงห้าทุ่มเที่ยงคืนถึงจะไม่ได้เงินเยอะ สิ่งที่ได้รับคือทำให้ทำทุกอย่างเป็นหมด พอเรียนจบก็ได้ทำงานที่นั่นเต็มตัว

งานแรกที่ทำเกี่ยวกับอะไร

ครั้งแรกเริ่มจากตำแหน่งคนแปลภาษา หลังจากนั้นได้พัฒนาตัวจนได้รับความไว้วางใจให้เป็น Country Director การได้ทำงานในตำแหน่งบริหารในบริษัทขนาดเล็ก ทำให้มีโอกาสได้ทำหลายๆ ด้าน ได้ทำทั้งด้านมาร์เก็ตติ้ง บัญชี ฯลฯ เหมือนถูกบังคับให้เรียนรู้ทุกๆ ด้านของการทำธุรกิจ

ประสบการณ์สำคัญที่ได้รับจากการทำงานที่นี่คือมีโอกาสได้เห็น Eco System ของกลุ่มสตาร์ทอัพ ด้วยความที่ทำงานในด้าน Co-working space ทำให้เห็นสตาร์ทอัพเยอะแยะเข้ามาจดทะเบียน เข้ามาเช่าออฟฟิศ ทำให้ได้คลุกคลีกับ co-founder หรือ founder สตาร์ทอัพต่างๆ ทำให้มี passion อยากออกมาทำสตาร์ทอัพของตัวเอง ทำงานได้พักหนึ่ง มีบริษัทฯสนใจรีครูสเข้าไปเป็นพนักงานคนแรกของ Swag EV สตาร์ทอัพมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของสิงคโปร์ที่ต้องการขยายตลาดมาประเทศไทย

ได้ประสบการณ์อะไรบ้างจากการเป็นพนักงานคนแรกของ Swag EV

การเป็นพนักงานคนแรกของบริษัทฯค่อนข้างท้าทาย เหมือนต้องเริ่มต้นจากศูนย์ การทำงานเริ่มต้นจากการดำเนินการจดทะเบียนบริษัท ด้วยตัวเอง ตอนนั้นกรมพัฒนาธุรกิจคืออะไรยังไม่รู้จัก ความที่เป็นบริษัทสิงคโปร์ เราต้องทำให้ทุกอย่าง ตั้งแต่จดทะเบียน หาบัญชี หามาร์เก็ตติ้ง สร้างทีม ทำการตลาด นำเข้าสินค้า วิ่งเต้นประสานงานให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนได้ การได้ทำงานแบบนี้ทำให้เราโตเร็วมากๆ เพราะมีโอกาสได้ทำครอบคลุมเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทั้งหมด

ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่เขาเลือกเรา โดยเริ่มจากการเข้ามาพูดคุยกันปกติ ทำให้เขาเห็นทัศนคติต่าง ๆ เห็นแววจากการทำงานเป็น Country manager ของ Union SPACE ที่รอบรู้การทำธุรกิจระดับหนึ่ง ยอมรับว่าตอนนั้นคิดว่ารู้เยอะแล้ว พอมาทำธุรกิจจริงๆ ทำให้ได้รู้ว่าที่คิดว่ารู้นั้นรู้น้อยไป ทำอยู่ Swag EV ประมาณปีนึง รู้สึกว่า VISION แตกต่างจากเจ้าของธุรกิจ วิธีในการทำธุรกิจไม่เหมือนกัน ทำให้ตัดสินใจลาออก

หลังจากนั้นทำอะไรต่อ

พอลาออกจาก Swag EV ส่วนตัวยังมี passion ในด้านสตาร์ทอัพอยู่ เพราะตอนทำงานที่ Union SPACE มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีระดมทุนว่าทำอย่างไร ก็เลยระดมทุนจากนักลงทุนชาวสิงคโปร์ โดยระดมทุนด้วยตัวเองทั้งหมด ตอนนั้นได้เงินลงทุนเริ่มต้น 400,000 USD เป็นเงินไทยก็ประมาณ 12 ล้านบาท มาเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองครั้งแรก ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง เปิดร้านขายอยู่ที่ภูเก็ต ต่อมาขยายสาขาไปขอนแก่น และกรุงเทพฯ ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างช้า...นั่นคือตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ทำให้คิดว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจไปได้ไกลกว่านั้น เลยหันมาทำไฟแนนซ์ ปล่อยให้เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ไม่ต้องขายเอง คือไปหาดีลเลอร์ และจัดไฟแนนซ์ให้

หลังปรับแผนธุรกิจผลตอบรับเป็นอย่างไร

ปล่อยให้เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้ระยะหนึ่ง มีปัญหาเรื่องของโพรดักส์ ควอลิตี้ของโพรดักส์ มีผลกระทบต่อพอร์ตโฟลิโอพอสมควร ถ้าโพรดักส์คุณภาพไม่ถึง ลูกค้ามักไม่ผ่อนค่างวดต่อ พอร์ตก็พัง จุดนี้ทำให้ได้รู้ว่าตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขาดแคลนโพรดักส์ที่ดีมีคุณภาพ ทำให้มองเห็นโอกาสและกลับไปเจรจากับผู้บริหาร Swag EV ขอซื้อกิจการมาดูแลต่อ เลยเป็นที่มาของการซื้อ Swag EV ที่ผมเคยเป็นพนักงานคนแรก ลาออกมา แล้วกลับไปซื้อกิจการ จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Sleek EV

ซื้อ Swag EV ในราคาเท่าไหร่?

ไม่อยากเปิดเผยตัวเลข แต่มีการสว๊อปหุ้น คือเป็นไฟแนนท์เชียล เอนจิเนียร์ริ่ง มีส่วนที่จ่ายเป็นเงินสด มีการแลกซื้อสินค้าบ้าง ทำหลายๆ อย่างแล้วเปลี่ยนชื่อ ที่เปลี่ยนชื่อเพราะรู้สึกว่าแบรนด์ Swag EV มันโต Global ไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องเครื่องหมายการค้าที่เยอรมัน ด้วยความต้องการพยายามให้ธุรกิจโกอินเตอร์ให้ได้ เลยเปลี่ยนให้เป็นชื่อที่ไม่ติดปัญหาเรื่องเทรดมาร์ค นี่คือที่มาของ Sleek EV

ทำไมตั้งชื่อ Sleek ที่ให้ความหมายว่าโฉบเฉี่ยว

อยากให้ชื่อติดหู วัยรุ่นเข้าถึงง่าย จริงๆ กลุ่มเป้าหมายคือทุกคน แต่ก็อยากให้มันเป็นชื่อแบบไม่  Masculine หรือ Feminine จนเกินไป ไม่อยากให้เป็นแมนจ๋า หรือผู้หญิงจ๋าจนเกินไป ผมอยากให้คนพูดถึง Sleek ไม่ใช่แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แต่อยากให้เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์มากกว่า

เริ่มต้นกิจการ Sleek EV เต็มรูปแบบเมื่อไหร่

จริงๆ Sleek เพิ่งจดทะเบียนประมาณปลายๆ เดือนธันวาคม 2564 -มกราคม 2565 นับว่าค่อนข้างเร็ว สำหรับการทำให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนและวิ่งบนถนนเมืองไทยได้สำเร็จ ซึ่งผ่านปัญหาเยอะมาก กว่ากฎหมายในประเทศไทยจะรองรับ รวมทั้งการทำมาร์เก็ตติ้ง ทำแบรนดิ้ง การขยายดีลเลอร์เน็ตเวิร์ก ทุกอย่างทำเองทั้งหมด ร่วมกับทีมงาน

ตอนนี้กิจการเดินหน้าไปได้ในระดับที่น่าพอใจไหม

ปัจจุบันแบงก์กรุงศรีออโต้รองรับแล้ว มีบริษัทประกันอย่างไทยวิวัฒน์ประกันภัยรองรับ อยู่ในเกรดท็อปสเกล และกรุงศรีออโต้ก็จัดไฟแนนซ์ให้แล้ว เรทดอกเบี้ยค่อนข้างดี ถือว่าต่ำสุดในตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน แบรนด์อื่นดอกเบื้ย 1.7-2% กว่าๆ  ต่อเดือน ของเราดอกเบี้ยเริ่มต้นแต่ 1.0 % กว่า ๆ ต่อเดือน ที่ได้รับการยอมรับคงเพราะว่าเขาค่อนข้างมั่นใจในแบรนด์ Sleek EV พอสมควร

มีประสบการณ์ทำ Swag EV มาก่อน พอมาทำ Sleek EV ได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน แล้วนำมาแก้ไข

สิ่งที่เราเห็นไม่ตรงกับเจ้าของ Swag EV คือบิซซิเนสโมเดล เรื่องของการขายให้ถึงมือลูกค้า ส่วนตัวผมมองว่าตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทยมักขายตรงให้กับลูกค้า ทำให้แบรนด์พิกอัพช้า การขายเองทีละคันสองคันทำให้ยอดโตค่อนข้างช้า สิ่งที่ผมมองว่าจำเป็นคือดีลเลอร์ เมื่อทำตลาดเองก็เลยขายผ่านดีลเลอร์ล้วนๆ  ไม่ขายเองเด็ดขาด คือให้ชัดเจนไปเลย ก่อนหน้านี้ Swag EV ขายเอง และขายดีลเลอร์ด้วย มันเกิดการแคลสกันของบิซซิเนสโมเดล การทำโปรโมชั่นก็จะชนกัน ตรงนี้เราเคลียร์กันว่าจะขายผ่านดีลเลอร์เท่านั้น ดีลเลอร์ทุกคนแฮปปี้ การทำธุรกิจต้องทำให้ได้ดีทุกคน ถ้าเรามุ่งจะทำกำไรมากๆ  มักไม่ยั่งยืน

ตอนนี้มีดีลเลอร์แล้วกี่ราย

มี 22 ราย เป็นดีลเลอร์ในสายออโตโมทีฟอยู่แล้ว คือจะเน้นดีลเลอร์ท็อปๆ ในแต่ละจังหวัด เราจะเลือกดีเลอร์ที่แข็งในเรื่องของเซอร์วิส และในเรื่องของอาฟเตอร์เซลล์เซอร์วิส เรื่องบริการหลังการขาย ที่อยู่ในสายยานยนต์

ตรงนี้คือจุดแตกต่างจากมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายอื่น

แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายอื่นอาจเปิดดีลเลอร์เยอะ บางแบรนด์มีดีลเลอร์ 100-200 สาขา แต่อาจจะเป็นดีลเลอร์ที่ยังไม่เชี่ยวชาญ อาจจะเพิ่งเข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้มักมีปัญหาในเรื่องของอาฟเตอร์เซลล์เซอร์วิส ซึ่งผมมองว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไม่ใช่โทรศัพท์ ยานยนต์ถ้าผิดพลาด มันคือชีวิต เราต้องเลือกดีลเลอร์ที่สามารถอาฟเตอร์เซลล์ได้ดี เจ้าอื่นจะขายง่ายๆ ใครจะขายก็ได้ ไม่มีการทำออดิท ถามว่าเขาเซอร์วิสถึงหรือเปล่า การเงินถึงหรือเปล่า การเปิดกว้างอย่างนั้นกิจการอาจจะโตเร็วก็จริง แต่ว่าระยะยาวยั่งยืนหรือเปล่า ผมไม่รู้

จากที่เห็นปัญหาตรงนั้น เมื่อมาทำดีลเลอร์เอง ผลตอบรับเป็นยังไง

ผลตอบรับถือว่าดี ตอนนี้ดีมานด์เยอะกว่าซัพพลาย เราแอบผลิตไม่ทัน ไม่ใช่ว่ามีกำลังผลิตน้อย แต่ว่าหลักๆ แล้วเราค่อนข้างเน้นในเรื่องควอลิตี้มากๆ ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ไม่มีทางที่ไม่มีข้อผิดพลาดอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ปล่อย มีดีเฟ็คนิดหน่อย เราไม่ปล่อย ค่อนข้างเข้มงวดมาก ก็เลยมีโปรดักส์พร้อม 100% ถึงมือดีลเลอร์มีจำนวนน้อยมากๆ ตรงนี้เป็นปัญหาที่กำลังแก้ไขในปัจจุบัน

ตอนนี้ตั้งโรงงานแล้ว

ตั้งโรงงานแล้วที่สมุทรสาคร จริงๆ โรงงานลงทุนไม่เยอะ เพราะไม่ได้ซื้อพื้นที่ แค่เช่าโรงงานที่มีไอเอสโออยู่แล้ว ไปตั้งไลน์ผลิต และประกอบเอง การประกอบรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ไม่ยาก ชิ้นส่วนหลักๆมีแค่ 150 ชิ้น ตอนนี้เริ่มประกอบเอง รถมอเตอร์ไซค์ที่เห็นจำหน่ายในประเทศไทยคือประกอบเองหมดแล้ว

ได้บีโอไอหรือยัง

ไม่ได้ทำบีโอไอ แต่มีแผนจะทำบีโอไอเร็วๆ นี้ มีแพลนว่าเราจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่สิงคโปร์ หรือไม่ก็นิวยอร์ค หรือแนสแด็ก ทำให้ต้องทำบีโอไอ

การมุ่งเข้าตลาดหุ้นในต่างประเทศ เพราะตลาดหุ้นในไทยต้องรอตรวจสอบบัญชีอย่างน้อย 3 ปีใช่ไหม

ไม่ได้ปิดกั้นการเข้าตลาดหุ้นประเทศไทย จริงๆ แล้วสตาร์ทอัพในไทยมันน่าเศร้า ถ้าเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม สตาร์ทอัพที่แกร่งๆ เยอะมาก แต่ประเทศไทยยังไม่พร้อม ถ้าการเงินของสตาร์ทอัพยังไม่พร้อมจริงๆ ต้องมองที่อื่นก่อน แต่ถ้าเลือกได้ อยากจะเข้าไอพีโอที่ไทย ต้องใช้เวลา ต้องดูที่ความเหมาะสมกับธุรกิจเราที่สุด ธุรกิจนี้ใช้เงินทุนค่อนข้างมาก

กำลังผลิตตอนนี้เท่าไหร่

ถ้าเต็มกำลังของโอเปอเรชั่นก็ 100 คันต่อวัน ตอนนี้มีปัญหาซัพพลายสินค้าจากจีน ของมาไม่ทัน บางเดือนประกอบได้แค่ 200 คัน

ตอนนี้ยอดผลิตเท่าไหร่ ยอดขายเท่าไหร่

เราเพิ่งเปิดขายช่วงปลายปีที่แล้ว ขายผ่านดีลเลอร์ได้ประมาณ 300 คัน ติดขั้นตอน complicate ในไทย ต้องใช้เวลาสิบกว่าเดือน กว่ามอเตอร์ไซค์จะขายได้ก็ล่วงเลยมาถึงเดือนตุลาคม ถือว่าเสียเวลาค่อนข้างมาก

 

สิ้นปี 2565 ตั้งเป้าเท่าไหร่

เราตั้งเป้าไว้ 2 พันคัน แต่ว่าไม่น่าจะทัน เจอปัญหาเยอะมาก ผลิตไม่ทัน สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเจออย่างเรื่องดีเฟ็ค เรื่องปัญหาโปรดักส์ ปีนี้เป็นปีแรก ต้องเจอปัญหาอยู่แล้ว

ยอดจองมีประมาณเท่าไหร่

800 คัน เป็นยอดรวมทั้ง 3 รุ่น

รุ่นไหนได้รับความนิยมสูงสุด

แรกๆ ตั้งเป้าว่ารุ่นใหญ่จะได้รับความนิยมสูงกว่า แต่ไปๆ มาๆ เหมือนรุ่นเล็กจะพิกอัพได้ดีกว่า ดีมานด์ของรุ่นเล็กเยอะกว่า ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ คนอยากจะลองรถอีวี แต่ไม่อยากทดลองมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันละ 1-2 แสน อยากจะลองระดับ 5-6 หมื่นก่อน ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนในปีหน้าเหมือนกัน ต้องทำโมเดลเล็ก แล้วค่อยๆ โต ค่อยๆ เพิ่มรุ่นที่สเปคสูงขึ้น

อะไรคือจุดเด่นของ Sleek EV

เป็นในเรื่องของควอลิตี้ เรื่องคุณภาพ อุปกรณ์ที่เราเลือกใช้ค่อนข้างพรีเมียม เช่น ตัวขับเคลื่อนก็จะเป็นของ Bosch เยอรมัน ปีนี้ Bosch เริ่มผลิตในไทยแล้ว ตัวเซลล์แบตเตอรี่เราใช้ของแอลจี แบตเตอรี่เรามีเซอติฟิเขต แบตเตอรีเราเป็นลิเทียม แมงกานิส ของเกาหลี ไว้ใจได้ในคุณภาพแน่นอน เราเน้นควอลิตี้และการคิวซี  ณ ปัจจุบัน เราได้ฟีดแบ็คออกมาดีว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับญี่ปุ่น

มีประกันอะไรที่แตกต่างจากแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายอื่นในตอนนี้บ้าง

ถ้าเทียบกับมอเตอร์ไซค์อีวีในตลาดตอนนี้ การรับประกันค่อนข้างจะไม่ชัดเจน อาจจะประกันมอเตอร์ 3 ปี แบตฯ 2 ปี ในส่วนของตัวรถ 1 ปี แต่ของเราให้ประกันระดับเดียวกับมอเตอร์ไซค์น้ำมัน ประกัน 15,000 กม. ฟรีเซอร์วิส มีการเช็กระยะที่ชัดเจน อย่างแบรนด์มอเตอร์ไซค์อีวีอื่น มักมีช่องโหว่ค่อนข้างเยอะ ไม่มีการเช็กระยะ ผู้ใช้ใหม่ก็ใช้ไป ด้วยความไม่เช็กระยะ แล้วไปเติม ไปโมฯ อะไรเพิ่ม อันตรายมากๆ

แบตเตอรีมีจุดเด่นอะไร

แบตเตอรี่ในตลาดหลายๆ รายในตอนนี้มีน้ำหนักสิบกว่ากิโลฯ ขึ้นไป ของเราหนักประมาณ 11 กก. แต่ปีหน้าจะเปลี่ยนเป็น 7 โล ลดน้ำหนักลง และเป็นแบบ 2 ลูกเล็กๆ ไซด์ประมาณขวดน้ำ เราคิดว่าต้องทำอะไรให้ยูสเซอร์รู้สึกเฟรนด์ลี่ที่สุด ดีสุด ตรงนี้เป็นสิ่งที่ยูสเซอร์จะเลือกใช้เรา

ปีนี้ 2566 มีแพลนจะมีโชว์รูมกี่แห่

ตั้งเป้าไว้ว่าจะมี 70 สาขาทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯจะมีประมาณ 7 สาขา ที่ตั้งเป้าไว้ไม่ได้หยุดแค่ 70 ก็คงต้องโตไปเรื่อยๆ

คิดว่าจุดชาร์จมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในปัจจุบันเพียงพอหรือยัง

ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าการมีจุดสวอปแบตฯมีความเหมาะสมกว่า เพราะว่าการชาร์จแบบปกติ 3 ชม. ไม่มีใครรอได้ ถึงแม้ว่าจะมีทั้งกลุ่มที่รอได้ และกลุ่มที่รอไม่ได้ แต่กลุ่มที่ไช้มอเตอร์ไซค์จริงๆ มักเป็นกลุ่มที่รอไม่ได้ ที่แคลิฟอร์เนียจุดรอชาร์จของเทสลาแถวยาวมาก อีกอย่างจำนวนผู้ใช้มอเตอร์ไซค์เยอะกว่ารถยนต์มาก คิดดูแถวต้องยาวขนาดไหนถึงจะรองรับกลุ่มมอเตอร์ไซค์ได้ แต่ถ้าเป็นตู้สวอป หรือยกเปลี่ยนได้เลยน่าจะโอเค

ถ้าบอกว่าแบบปกติรอนาน ใช้ฟาสชาร์จ คือ 30 นาที เร็วจริง แต่เร็วพอหรือเปล่า 30-40 นาที อาจต้องหาเรื่องซื้อกาแฟ หาอะไรกินรอเวลา ถามว่าคุณประหยัดจากการเติมน้ำมัน แต่ต้องไปหาเรื่องซื้ออาหาร หรือซื้อสินค้า เพื่อรอชาร์จ ที่บางครั้งอาจจะมีคิวด้วย อาจจะวิ่งทำรอบไม่ได้ จริงๆ มันมีออพินิตี้คอสที่เสียไปในการทำงานด้วย อย่าลืมว่าการฟาสชาร์จอาจไม่ดีพอ เหมือนใช้ไอโฟน ยิ่งฟาสชาร์จบ่อย แบตยิ่งเสื่อมเร็ว และเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนแบตเสื่อมสภาพ ยิ่งไม่รักษ์โลก ยิ่งไม่ sustainable เท่ากับผิดหลักของการใช้รถ EV

คิดว่าจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรีของ Sleek EV ควรจะมีจำนวนเท่าไหร่

ตอนนี้เรายังไม่มีจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี มีแพลนว่าจะลอนซ์ภายในปีนี้ เคยมีแถลงข่าวจับมือกับโออาร์ในการศึกษาหาจุดสวอปแบตเตอรี จะเห็นตู้ไพลอตของเรา เริ่มมีการเทสต์สวอปแล้ว แต่ที่จะลอนซ์ในปีนี้จะเป็นอีกรูปแบบนึง ถ้าเป็นไปได้จะมีตามสถานี ปตท. ร้านอเมซอน ร้านซักรีด สามารถมีตู้สวอปได้ทุกที่เลย

การจับมือกับโออาร์ในการศึกษาจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี่มีความคืบหน้าอย่างไร

ตอนนี้เริ่มเทสต์ตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ S Pods แล้ว คาดว่าจะสามารถติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่พร้อม ๆ กัน 225 จุด ภายในทุก 7 กิโลเมตรต้องมีตู้สวอปแบตเตอรีของ Sleek EV พร้อมให้บริการ ประเมินว่าควรทำพร้อมกันทั่วกรุงเทพฯ ภายในปี 2023 นี้

Sleek EV มองกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มไหน

ไม่ได้มองว่าเป็นพรีเมียมหรือโลว์เอ็น ต้องการให้เป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพี่วิน นักศึกษา หรือคนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือคนทำงานที่จำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง เป้าหมายหลักคือคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์ในปัจจุบัน  ที่ต้องการเดินทางให้ถูกกว่าเดิม 50%  ทั้งประหยัดกว่า สะอาด และเข้าถึงแหล่งพลังงานง่ายกว่า หมายถึงเข้าถึงด้วยการ สวอปแบต Sleek EV อาจไม่เหมาะสำหรับกลุ่มที่ต้องการความเร็ว น่าจะเหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป เน้นสำหรับผู้ต้องการใช้งานจากจุดเอไปจุดบี ที่ต้องการจ่ายค่าเชื้อเพลิงถูกลง และสะอาดขึ้น

ปี 2566 มีเป้าหมายขยายตัวแทนจำหน่ายกี่แห่ง

ตั้งเป้า ปี 2566 จะขยายตัวแทนจำหน่าย 70 สาขาทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ จะมีประมาณ 7 สาขา ที่จำนวนที่ตั้งเป้าไว้ไม่ได้หยุดแค่ 70 สาขา ธุรกิจต้องโตไปเรื่อยๆ

เรื่องเงินลงทุนคงไม่เป็นห่วง เพราะเป็นนักการเงินอยู่แล้ว

การเงินเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพทุกคนต้องเจออยู่แล้ว ต้องบริหาร Cash Flow จริงๆ หน้าที่ของผู้บริหารคือทำอย่างไรให้บริษัทไม่ตาย คิดไอเดียอะไรก็ได้ แคชต้องไปได้ และต้องระดมทุนไปเรื่อยๆ โดยระดมเป็นเฟสๆ และตอนนี้บริษัทฯ มีทุนเพียงพออยู่แล้วไม่ได้ติดขัดเรื่องเงินลงทุน

ทุนส่วนใหญ่มาจากไหน

มาจากสิงคโปร์ ตอนนี้เรากำลังปิดการระดมทุน Sleek EV  ที่ 10,000,000 USD

ส่วนของโรงงานผลิตในไทยเป็นการผลิตป้อนตลาดในประเทศ หรือมีแผนส่งออกด้วย

ปีหน้ามีแพลนจะส่งออกประมาณ 40% ต้องการส่งออกไปเวียดนาม มาเลย์ อินโด และประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ อย่างกัมพูชา ลาว พม่า ความที่ผมเป็นคนไทย อยากให้นำโนฮาวและเทคโนโลยีมาผลิตในไทย เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพในประเทศ มีเป้าหมายจะพัฒนาให้ไทยเป็นฮับ ผลิตเพื่อส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

สภาพตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าตอนนี้มีรายอื่นจะเข้าตลาดอีกหรือไม่

มีอยู่แล้ว ทุกวันผมจะได้ยินชื่อแบรนด์ใหม่ ตอนนี้ตลาดอีวีกำลังฮอต เนื้อหอมมาก ในอินโดนีเซีย มีเจ้าใหญ่ๆ แข็งๆ เยอะเหมือนกัน ถ้าจะทำให้เกิดต้องกลับมาจุดเดิม โพรดักส์ต้องตอบโจทย์ และยูสเซอร์เฟรนลี่ที่สุด สุดท้ายยูสเซอร์จะเลือกใช้แบรนด์เราเอง จริงๆ คอนเนคชั่นไม่ได้ช่วยอะไรเลย เคยมีประสบการณ์ไปทำตลาดกับรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ถ้าโพรดักส์ไม่ตอบโจทย์ เขาก็ไม่เลือกซื้อ

ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะมีเข้ามาอีกหลายแบรนด์ Sleek EV มีเป้าหมายทางการตลาดอย่างไร

ทุกคนอยากมาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทย เพราะตลาดนี้ใหญ่มาก สำหรับ Sleek EV ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี 2030 อยากมีมาร์เก็ตแชร์ 60% ขึ้นไป ไม่ใช่เป็นมาร์เก็ตแชร์แค่อีวี แต่เป็นมาร์เก็ตแชร์ของมอเตอร์ไซค์รวมทั้งตลาด

ยอดขายมอเตอร์ไซค์ในไทยสูงถึงปีละเกือบ 2 ล้านคันนะ

ใช่ครับ 1.8 ถึง 2  ล้านคัน ต้องบอกว่าเล็กไม่รอด ถ้าทำมันต้องสุด อย่างตอนนี้เจ้าตลาดมีมาร์เก็ตแชร์ 80-90% สมมติถ้าคุณเล็ก คุณคือ 1 ใน 100 แบรนด์ที่สู้ในมาร์เก็ตแชร์ 10-20% มันไม่พอ ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนอย่างยั่งยืนจริง ๆ ต้องไปให้สุด

มีคนพร้อมจะลงทุนตรงนี้อยู่แล้ว

ถ้าบิสสิเนสเราดี มีความยั่งยืน เชื่อว่าเงินทุนเป็นสิ่งที่ไม่ได้หายาก

ถ้าญี่ปุ่นลงมาเล่นตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตลาดมีโอกาสจะโตเมือนรถยนต์ไฟฟ้าไหม

จริงๆ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีรายใหญ่ลงมาเล่นในตลาดนี้ และมีรายใหญ่ในประเทศจีนอย่างบีวายดี เนต้า ออโต้ และเกรทวอลล์มอเตอร์ เข้ามาแข่งกับแบรนด์ญี่ปุ่นในไทยค่อนข้างเยอะ คิดว่ามันคือจุดเปลี่ยนว่าต่อไปใครจะเป็นมหาอำนาจยานยนต์ ผมมองว่าสลีคก็อยู่ในจุดเปลี่ยนที่มีโอกาสที่จะโตขึ้นมาแย่งชิงตลาดมอเตอร์ไซค์เหมือนกัน

แนวโน้มตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะเหมือนรถยนต์ไฟฟ้า คือจะมีแบรนด์จีนเข้ามาทำ

มีแบรนด์จีน มีแบรนด์อีกหลายประเทศเข้ามาทำตลาด ส่วนญี่ปุ่นจะช้าลงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ขึ้นอยู่กับวิชั่นของเขา ด้วยความเป็นบริษัทใหญ่ เขาเปลี่ยนยาก แต่จีนเริ่มต้นก็มีอีวีอยู่แล้ว ด้วยความที่สลีคมีสเกลเล็ก เปลี่ยนง่ายกว่า คือมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ายักษ์ใหญ่ยังไม่พร้อม มีประกาศเปิดตัวโพรดักส์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก็จริง แต่ยังไม่พร้อมขาย ตรงนี้สื่อว่าเขายังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน คือทำแบบเดิมเขากำไรมหาศาล ทำไมต้องมาหัวหมุนทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

คิดว่าตรงนี้เป็นโอกาส

เรามองตรงนี้เป็นโอกาส จากวันนี้ถ้าเวลาผ่านไปถึงสามปีข้างหน้า ถ้าเขายังไม่มา ตอนนั้นจะเป็นโอกาสที่จะช่วงชิง

มองว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ที่มาพร้อมกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ตอนนี้ถ้าจะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เขาเริ่มเช็กเรื่องคาร์บอนเครดิตกันแล้วว่าคุณปล่อยคาร์บอนตามเกณฑ์หรือเปล่า ถ้าเกินเกณฑ์เอาเข้ามหาชนไม่ได้ เทรนด์ตรงนี้มาแรง และเจน Z เด็กรุ่นใหม่ค่อยข้างให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ sustainable มากกว่าแบรนด์เนม เทรนด์มันเริ่มเปลี่ยน ต่อไปถ้าไม่ทำธุรกิจที่ sustainable ก็คือเอาท์ หรือตกยุค

ข้อมูลประกอบ

รายละเอียด SLEEK EV ที่มีจำหนายในไทย

ปัจจุบัน SLEEK EV มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน แบ่งเป็น Segment Home Scooter อย่าง TYPE-S และ SLEEK One และ Segment Urban Scooter อย่าง TYPE-V Series โดย TYPE-V มาพร้อมขุมพลังมอเตอร์ 3,000 วัตต์ พร้อมจุแบตเตอรี่ Lithium NMC ขนาด 60V 70Ah ทำความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะเดียวกัน TYPE-V GT ก็ถูกออกแบบมาเอาใจนักเดินทางด้วยระบบ Mid-Drive Motor 4,000 วัตต์ พร้อมจอแสดงผลแบบ Full Digital Display ที่รวบรวมข้อมูลสำคัญของการเดินทางไว้บนหน้าจอเดียว ในราคา TYPE-V 129,000 บาท และราคา TYPE-V GT 149,000 บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้